มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ ได้คิดค้น “เสื้อไม่อาย” เพื่อช่วยลดปัญหาความไม่มั่นใจในเรือนร่างของหญิงไทย ขณะเข้ารับการตรวจรังสีเต้านม (Mammogram) ซึ่งนวัตกรรมเสื้อดังกล่าวจะเอื้อให้เจ้าหน้าที่รังสีสามารถจัดตำแหน่งเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจแต่ละข้างได้ โดยที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเผยผิวหนังและร่างกาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิณพิชญ์ชา มะมม อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ผู้หญิงไทยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่มีประมาณ 8,000 คนต่อปี และช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มผู้หญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ป่วยอายุน้อยสุดที่พบคือ 18 ปี ดังนั้น ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ คนที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมในครอบครัว และคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสี ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เพื่อค้นหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อ อันเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งเต้านม ในกรณีที่พบความผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรม เพื่อค้นหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อ ให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งการตรวจแมมโมแกรมนั้น ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องถอดเสื้อ โดยเปลือยร่างกายส่วนบนให้เจ้าหน้าที่ทำการจัดตำแหน่งเต้านม (ทีละข้าง) ให้เหมาะสมกับการฉายรังสี ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30-60 นาที การเปลือยร่างกายส่วนบนต่อหน้าบุคคลที่ไม่รู้จักเป็นเวลานาน ทำให้สตรีที่เข้ารับการตรวจเกิดความรู้สึกอายด้วย ขาดความมั่นใจในผิวหนังหรือเรือนร่างของตนเอง และอาจส่งผลให้ไม่อยากกลับมาตรวจซ้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ จึงได้พัฒนานวัตกรรม “เสื้อไม่อาย” ขึ้น เพื่อลดปัญหาดังกล่าว และสนับสนุนให้หญิงไทยเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมกันมากขึ้น
...
ผศ.จิณพิชญ์ชา กล่าวต่อว่า นวัตกรรม “เสื้อไม่อาย” เป็นเสื้อสำหรับใส่ตรวจรังสีเต้านมที่จะเปิดเผยร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจ เฉพาะบริเวณเต้านมที่จะต้องเอกซเรย์เท่านั้น โดยเสื้อดังกล่าวถูกตัดเย็บให้มีช่องสี่เหลี่ยมขนาด 15 × 15 เซนติเมตร จำนวน 2 ช่อง ครอบบริเวณเต้านม และในแต่ละช่องจะมีผ้าคลุมเย็บกระดุมติดอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถปลดกระดุมให้เจ้าหน้าที่รังสีจัดตำแหน่งเต้านมทีละข้างได้ โดยไม่ต้องเผยผิวหนังและร่างกายส่วนอื่นๆ อาทิ แผ่น หลัง หน้าท้อง รักแร้ เป็นการ ช่วยลดปัญหา ความไม่มั่นใจในเรือนร่างได้ นวัต-กรรมดัง กล่าวยังได้รับการดัดแปลงมาจากเสื้อยืดแบบผ้าคอตตอน ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่ขณะเข้ารับการเอกซเรย์รังสี โดยมีหลากหลายขนาด เพื่อรองรับสรีระของผู้เข้ารับการตรวจที่ต่างกัน
สำหรับสถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข ชุมชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจนวัตกรรม “เสื้อไม่อาย” สอบถามรายละเอียดได้ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) โทร.0-2986-9213 ต่อ 7316-8 หรือคลิกเข้าไปที่ www.pr.tu.ac.th