อาชีพนักข่าวหรือสื่อมวลชน ที่หลายคนมองว่าเป็นฐานันดร 4 มีสิทธิพิเศษบ้างอะไรบ้าง จริงๆ แล้วนักข่าวแต่ละสายข่าว ล้วนแต่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไป
นักข่าวกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กลุ่มนักข่าวที่ทำหน้าที่ติดตามผู้นำของประเทศ
หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า นักข่าวตามนายกฯ คนกลุ่มนี้ต้องบอกเลยว่า ภารกิจแต่ละวันค่อนข้างหลากหลายและต้องรับมือกับผู้นำที่มีหลากอารมณ์เช่นกัน ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปเกาะติดภารกิจของเขาในหนึ่งวันอันแสนจะวุ่นวาย ในวันที่มีประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.นั่นเอง
งานนี้เราขอติดตามทีมตามนายกฯ ของไทยรัฐทีวี ตั้งแต่ออกจากสตูดิโอ คนพร้อม รถพร้อม ต้องเคลื่อนไหวรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ไปให้ทันท่านผู้นำและรัฐมนตรีหลายคนที่เข้ามารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล
บอกได้เลยว่า ภารกิจนี้ไม่ง่าย เพราะหมู่นักข่าวและช่างภาพประจำทำเนียบรัฐบาล ประเมินด้วยสายตาเกือบร้อยชีวิตก็ว่าได้ หลายคนต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย ทั้งทักษะการแทรกซึมเข้าถึง (จริงๆ คือ เข้าให้ถึงจุดที่จะได้ฟังเสียงสัมภาษณ์ชัดเจนที่สุด) ทักษะในการคาดเดา (นั่นคือ เดาว่า ท่านนายกฯ จะให้สัมภาษณ์ไหมวันนี้) ทักษะในการจดและฟัง (นักข่าวต้องฟังและสรุปรวบยอดสิ่งที่สัมภาษณ์มาอย่างรวดเร็ว) และ ทักษะในการบันทึกภาพด้วยตัวเอง เพราะชอตทุกชอตของผู้นำล้วนแต่สำคัญ แทบจะพลาดไม่ได้ มือถือคู่ใจ ต้องทำหน้าที่หนักหน่วงพอสมควร ทั้งถ่ายคลิป บันทึกเสียง ถ่ายภาพนิ่ง เก็บทุกอิริยาบทให้ครบถ้วนแบบรัวๆ
...
ที่สำคัญคือ ทักษะในการตั้งคำถาม เพราะหลังๆ ต้องถามแค่ 4 คำถาม
น้องไอซ์ ปรัชญา นงนุช แห่งค่ายมติชนน้องใหม่ แต่คำถามกระชากใจ บอกว่า "มาแรกๆ ก็จะเกร็งไม่รู้ว่าเราจะตั้งคำถามแบบไหน และท่านนายกฯ จะตอบมายังไง จะโดนดุไหม แต่หลังๆ เริ่มปรับตัวและชินกับสภาพแวดล้อม รวมถึงปฏิกิริยาของผู้นำ"
ส่วนพี่เล็ก วาสนา นาน่วม นักข่าวความมั่นคง หรือ ผู้สื่อข่าวสายการเมืองประจำหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่ต้องเข้าทำเนียบรัฐบาลเป็นประจำก็ยอมรับว่า
"การจำกัดคำถามแค่สี่คำถามทำให้ต้องมาลำดับความสำคัญ เพราะถ้าถามคำถามแรกวงแตกอีก 3 คำถามก็อด"
นอกจากนั้นสิ่งที่นักข่าวติดตามผู้นำประเทศต้องทำคือ การรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพราะก็ไม่รู้ว่าท่านจะมาอารมณ์ไหน...ด้วยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง และสัญญาณต่างๆ ที่จะบอกได้ว่าควรรับมืออย่างไร
“ดูสีหน้าอารมณ์ก่อนสัมภาษณ์ด้วย ถ้าคิ้วย่นๆ ชนกัน ก็อาจจะต้องปรับคำถาม ถามว่า เวลานายกฯ ปาของใส่ นักข่าวโกรธไหม ไม่โกรธเพราะเข้าใจกัน และติดตามมานาน ว่านี่คือตัวตนของท่าน แต่คนภายนอกอาจจะไม่เข้าใจ” วาสนา นาน่วม เล่าด้วยหน้าเปื้อนยิ้ม
...
นักข่าวยุคใหม่ต้องเป็น “โมบาย เจอร์นัลลิสต์” เพราะมือถือคู่กาย เป็นช่องทางที่จะรายงานข่าวถึงประชาชนได้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นสังเกตเห็นว่า ทุกคนจะอัพเดตข้อมูลในโซเชียลมีเดีย รัวๆ ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์ และสื่อโซเชียลอื่นๆ ซึ่งหลายคนก็เคยชินกับการอัพเดตข่าวโดยไม่รู้ตัว ไม่เว้นแม้แต่ตอนรับประทานอาหาร ก็ส่งข่าวไปด้วย
ในฐานะนักข่าวที่ใกล้ชิดผู้นำ นักข่าวในทำเนียบรัฐบาล บอกว่า นอกจากภารกิจสำคัญในการนำเสนอข่าวแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องคำนึงถึงในการทำข่าวทุกครั้งก็คือผลกระทบต่อสังคม และนำเสนอไปแล้วประชาชนจะได้อะไร...นั่นแหละคือหัวใจสำคัญของคนทำข่าว
...