คิม - โชติวิทย์ - นิจวรรณ - กฤต
ในยุค 4G คลื่นดีมาแรง!! คงต้องจับตามอง “คลื่นลูกใหม่” ทายาทนักธุรกิจหลายๆสาขา ที่เริ่มหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามารับไม้สานต่อธุรกิจของครอบครัว จากที่คนรุ่นพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ได้บุกเบิกไว้จนเป็นปึกแผ่น จึงเป็นเรื่องท้าทายวิชาอาคมและฝีไม้ลายมือของเหล่าคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามารับไม้ต่อ ว่าจะสามารถรักษาธุรกิจที่คนรุ่นก่อนได้สร้างเอาไว้ให้มั่นคงต่อไปได้อย่างไร ซึ่งนับเป็นเรื่องยากกว่าการเริ่มสร้างธุรกิจใหม่เสียด้วยซ้ำ
ในวงการน้ำเมา คงได้เห็นการส่งไม้ต่อเป็นที่ชัดเจน โดยเฉพาะ “เบียร์ช้าง” ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ค่อยๆเฟดตัวเองให้ลูกชายคนโต “คุณหนุ่ม-ฐาปน สิริวัฒนภักดี” เข้ามาดูแลธุรกิจของบมจ.ไทยเบฟ จึงได้เห็นคุณหนุ่มในฐานะซีอีโอไทยเบฟก้าวขึ้นเวทีงานฉลองครบรอบ 20 ปีเบียร์ช้าง ประกาศปรับลุคขวดเบียร์ช้างใหม่ จากสีน้ำตาลเป็นสีเขียว ให้ดูเป็นไฮโซมีระดับขึ้น ปรากฏว่าทุบยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมถล่มทลาย
...
ขณะที่ค่ายสิงห์ ได้ลูกชายคนที่ 2 “ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” สิงห์หนุ่มรุ่น 4 ที่เข้ามาดูแลธุรกิจเสาหลัก ของกลุ่มบุญรอด (เฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) บนเก้าอี้กรรมการบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ด้านเรดบลู ต้องจับตามอง “ปอร์เช่-วาริท อยู่วิทยา” ลูกชายคนโต ของเจ้าพ่อเรดบลู “เฉลิม อยู่วิทยา” ซึ่งเข้ามามีบทบาทในสยามไวเนอรี่อย่างเต็มตัว
ส่วนวงการอสังหาริมทรัพย์ ต้องจับจ้องให้ดีกับคนชื่อ “สรพจน์ เตชะไกรศรี” ซีอีโอ บจม.PACE เจ้าของโครงการมหานคร ที่เติบโตมาในสายงานธุรกิจอสังหาฯ โดยเป็นทายาท“ยุพา เตชะไกรศรี” หุ้นส่วนใหญ่ของ LPN ดิเวลลอปเม้นท์, “แวว–ธีรวัลคุ์ ปังศรีวงศ์ เตชะอุบล” ทายาท ธีรพงศ์-วัลลิยา (สารสิน) ปังศรีวงศ์ เข้ามาดูแลธุรกิจเคปพันวา ภูเก็ต และโรงแรม Kantary Hill รวมทั้งเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ หลายแห่ง, “พราวพุธ ลิปตพัลลภ” ลูกสาวคนเก่งของ “สุวัจน์-พลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ” ที่ขอมาลุยงานอสังหาฯในบริษัท พราว เรียลเอสเตท จำกัด, ลักษมีกานต์ อิงคะกุล อิสสระ มาสานต่อธุรกิจโรงแรมในเครือมิราเคิล กรุ๊ป ของ “คุณพ่ออัศวิน อิงคะกุล” ปิดท้ายด้วยซีอีโอหนุ่มขวัญใจดาราดัง “กึ้ง–เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ลูกชายคนเดียวของ ประยุทธ-สุวิมล มหากิจศิริ มาดูแลกิจการ บจม.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ และขยายอาณาจักรในกลุ่ม พีเอ็ม กรุ๊ป
นอกเหนือจากเหล่าผู้บริหารรุ่นใหม่คนดังที่คุ้นหน้าคุ้นตานี้แล้ว ยังมีผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีลมใต้ปีกของครอบครัวคอยสนับสนุน โดยถูกวางตัวให้พร้อมผงาดในเวลาอีกไม่นาน บรรดาคลื่นลูกใหม่หลายๆคนนี้ ล้วนแล้วแต่มีไอเดียและฝีมือที่พร้อมเดินหน้าลุย และขยายอาณาจักรของครอบครัวให้ก้าวไกลกว่าที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้
“คิม จงสถิตย์วัฒนา” ทายาทธุรกิจสำนักพิมพ์ร้อยล้าน “นานมีบุ๊คส์” เป็นหนึ่งในผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดอาณาจักรสำนักพิมพ์ที่โด่งดัง “คิมเข้ามาทำงานที่นานมีบุ๊คส์ 9 ปีแล้ว เรามีประชุมครอบครัว ตกลงว่า คิมต้องเข้าไปดูกิจการรองเท้าของคุณพ่อ (พิชิต จงสถิตย์วัฒนา เจ้าของ บริษัท เอ.เอ. ฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและนำเข้ารองเท้ายี่ห้อ ปิแอร์กาแดง และเจอ็อกซ์) แล้ว เจนน้องสาวมาดูนานมีบุ๊คส์ แต่พอเรียนจบ คิมมาขอน้องเปลี่ยนสายงาน โชคดีที่เจนเปิดใจกว้าง ยินดี คิมเลยเข้ามาทำงานกับคุณแม่ คิมกับคุณแม่ (สุวดี จงสถิตย์วัฒนา) มีนิสัยบางอย่างเหมือนกันคือ เร็ว และพูดตรง คุณสมบัตินี้มีทั้งดีและเสีย คุณแม่เขามีประสบการณ์มากกว่า เขาก็จะคอยเตือน ให้คิมระมัดระวัง เพราะอาจทำให้คนภายนอกเข้าใจเราผิด”
...
เมื่อถูกวางให้เป็นผู้สืบทอดงานในธุรกิจสิ่งพิมพ์ ที่หลายคนมองว่า อนาคตหดสั้น คิม ได้บอกว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่จากการทำงานที่ผ่านมา โชคดีที่คิมซึมซับแนวคิดและอุดมการณ์ของคุณแม่มาอย่างแรงกล้า รวมทั้งเราได้เตรียมการณ์ ปรับตัวจากสำนักพิมพ์ มาเป็นผู้ให้บริการด้านการเรียนรู้ เพราะเป้าหมายของเราคือ การส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพของชาติ”
ผู้บริหารหนุ่มวัยใกล้เคียงกันอย่าง “กฤต กุลหิรัญ” ทายาทมาดามรถถัง “นพรัตน์–หิรัญ กุลหิรัญ” เจ้าของ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยางติดเหล็ก ข้อต่อสายพาน ล้อกดสายพาน ให้กองทัพไทยและกองทัพในต่างประเทศรวม 37 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรับภาระดูงานใหญ่ในสายการผลิตรถเกราะและโรงงานเจองานใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ “กฤต” บอกว่า “ถูกล้อมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ ว่า บ้านนี้ทำรถถัง ก็ตลกดี งานเราก็อาจจะไม่ค่อยเหมือนคนอื่น ผมเองก็ไม่มีความรู้ แรกๆก็กลุ้มใจ อาศัยที่ได้คลุกคลีกับผู้เชี่ยวชาญเวลาไปดูงานซื้อของกับคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.6 ทำให้เราเรียนรู้ข้อดี-ข้อเสีย ของอะไหล่เครื่องยนต์ จากหลายๆเจ้า ซึ่งธุรกิจนี้ คุณพ่อจะสอนตลอดเลยว่า เราต้องรู้จริง ทำสินค้าให้ดีจริง เพราะธุรกิจนี้มีผู้ซื้อน้อยราย ดังนั้นจึงต้องทำให้สินค้าของเราเป็นที่พอใจของผู้ซื้อ ถ้าทำไม่ดี ครั้งหน้าเราก็ขายไม่ได้”
...
ความกดดันที่ผู้บริหารคลื่นลูกใหม่รายนี้ได้รับ หลังจากที่เข้ามารับไม้ต่อยอดกิจการของครอบครัว กฤต บอกว่า “รุ่นบุกเบิกรุ่นแรกคือคุณพ่อคุณแม่ เขาสร้างมาดีมากครับ จากขายอะไหล่รถ มาซ่อมรถ จนตอนนี้เราสามารถสร้างรถเกราะเอง ซึ่งพวกเราลูกๆ เข้ามารับช่วงต่อตั้งใจผลิตรถแบรนด์ของเราเองให้น่าเชื่อถือ เป็นที่ต้องการของผู้ใช้ ไม่เฉพาะในตลาดต่างประเทศ เราอยากทำรถดีๆให้คนไทยเราใช้ด้วย”
สำหรับผู้บริหารหนุ่ม-สาวเจน Y วัยเลข 2 นำหน้า ที่กำลังรุ่ง อย่าง นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ ลูกสาวคนโตของ นิรันด์–วรรณี เชาว์กิตติโสภณ ที่ทำธุรกิจกงสีของอากงอาม่า ผู้ผลิต “ชามตราไก่” ชื่อดังของ จ.ลำปาง ก่อนที่จะมาทำธุรกิจของตัวเองมูลค่าหลายร้อยล้าน “บมจ.โฮมพอตเทอรี่” ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องเคลือบดินเผา Fine China ส่งตลาดทั่วโลก สำหรับสาวเจน Y วรรณ–นิจวรรณ เข้ามาดูแลฝ่ายการตลาดของบริษัทฯ บอกว่า “วรรณเข้ามาช่วยงานตั้งแต่เรียน ปี 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี โดยคุณพ่ออยากนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์มานานแล้ว และ “วรรณ” ก็ได้เข้ามาช่วยในช่วงที่เตรียมตัวเข้าตลาดฯ 2 ปี”
...
แม้จะมีอายุเพียง 26 ปี แต่ผู้บริหารสาวคนนี้ได้ซึมซับการทำงานที่พร้อมจะมาเป็นมือขวาที่แข็งแรงของบุพการีได้อย่างดี โดยเล่าว่า “ในอนาคตเราก็วางแผนว่าจะต่อยอดธุรกิจจากรับจ้างผลิต 100% มาทำแบรนด์ของตัวเองด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็มีแบรนด์ของตัวเองชื่อว่า “เพทาย” และนอกจากตลาดอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลียแล้ว เราก็จะบุกตลาด AEC ต่อไป วรรณอายุยังน้อย ก็พยายามเรียนรู้งานจากคุณพ่อ ซึ่งท่านมักมีการวางแผนระยะยาว อนาคตข้างหน้าซึ่งจะต้องมารับช่วงงานต่อจากครอบครัว เพราะงานที่ทำอยู่ตอนนี้ก็เป็นงานที่เธอรัก และคลุกคลีมาตั้งแต่เด็กด้วย”
เถ้าแก่น้อยคนสุดท้าย โชติวิทย์ เตชะอุบล ลูกชายคนโต ของ อภิชัย–ชลิดา เตชะอุบล ที่ถูกเลือกให้เข้ามาดูแลธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มนับร้อยล้านของครอบครัว บริษัท เจซี เควินฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด ซึ่ง โจ–โชติวิทย์ บอกว่า “ที่บ้านทำหลายอย่าง ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนบริษัท เจซี เควินฟู้ดฯนี้นับว่าใหม่สุด จุดเริ่มต้น มาจากที่ผมไปเรียนอังกฤษแล้วไปกินอาหารที่ร้าน ซินยอร์ แซสซี่ ที่ลอนดอน รู้จักคุยกับเจ้าของเขาให้มาเปิดสาขาที่กรุงเทพฯได้ เมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยเปิดสาขาแรกที่ชั้น 37 โรงแรมอนันตรา ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แล้วมาเปิดสาขาที่ 2 ที่พารากอน อาจเป็นเพราะผมชอบทำอาหารให้น้องๆกิน ตอนเรียนอยู่ที่อังกฤษ ป๊าเลยอยากให้มาทำงานด้านนี้ เป็นการพิสูจน์ฝีมือก่อนที่จะไปทำงานด้านอื่น”
ฝีมือในการทำงานของผู้บริหารหนุ่มที่ชื่นชอบวิชาตัวเลขวัย 25 ปีคนนี้ ก็ได้ขยายงานดูแลร้านอาหารชื่อดังทั้ง 4 ร้านได้อย่างดี โดยบอกว่า “การทำงานทั้งหมด ป๊าให้ผมเรียนรู้เอง ลองผิดลองถูกเอง มีปรึกษาบ้าง แต่ผมชอบไปทานข้าวกับเพื่อนป๊า เขาคุยกันทำให้ผมได้รับประสบการณ์ที่ดี ได้ความรู้เยอะดี ดีกว่าคุยกับคนรุ่นเดียวกัน ส่วนจุดแข็งของคนรุ่นใหม่อย่างผม เราก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม อย่างเรื่องมีเดีย เราก็ใช้ช่องทางนี้มาช่วยเยอะผมก็อยากแบ่งเบาภาระ เพราะป๊าทำมาเหนื่อยแล้ว แต่ยุคเราคงไม่เหนื่อยแบบเขา เราคงจะต่อยอดธุรกิจให้เติบโตไปเรื่อยๆ”
คลื่นลูกใหม่เหล่านี้คงสร้างสีสันให้วงการธุรกิจและสังคมต่อไปในอนาคต อย่ากะพริบตาเชียว!
ทีมข่าวหน้าสตรี