เดี๋ยวนี้กรุงเทพฯ มีแหล่งแฮงเอาต์แห่งใหม่แล้วนะ รู้ยัง? ใครอยากหนีอากาศร้อนช่วงนี้ ไปสิงร่างอยู่ในที่ที่แอร์เย็นฉ่ำ คุณไม่ต้องไปเดินห้างก็ได้ แต่อยากชวนให้มาเดินเที่ยวชมเพลินๆ ที่ ‘หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร’ เพิ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมานี้เอง

I TOUR ALONE กับฮัมมิ่งเบิร์ด สัปดาห์นี้เลยจะพาคุณไปทำความรู้จักแหล่งเพิ่มอาหารสมองแห่งใหม่ในย่านราชดำเนินกลาง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงหัวมุมถนนตะนาว ใกล้สี่แยกคอกวัว หรือแถวๆ กองสลากเก่านั่นเอง หาไม่ยากจ้า...

-1-

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดีใจได้พักผ่อน ไม่ต้องออกทริปต่างจังหวัด แต่มันก็แอบเบื่อเหมือนกันนะ ที่จะนั่งๆ นอนๆ อยู่แต่ในห้องทั้งวัน เลยตัดสินใจว่าวันอาทิตย์ไปลองใช้บริการห้องสมุดสุดไฮเทคแห่งใหม่อย่าง หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ดีกว่า อยากรู้ว่ามันจะเจ๋งสักแค่ไหน

การเดินทางเราเอาแบบง่ายๆ เข้าว่า นั่งแท็กซี่เลยจ้า จากที่บ้านย่านวิภาวดีไปจนถึงถนนราชดำเนินกลางใช้เวลาไม่นานประมาณครึ่งชั่วโมง หรือถ้าใครอยากสะดวกบวกประหยัดตังค์ ก็นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสมาลงสถานีพญาไท หรือไม่ก็ราชเทวี ต่อแท็กซี่มาอีกหน่อยเดียวก็ถึงแล้ว

...

มาถึงหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ ประมาณ 11 โมงเช้า คนยังไม่เยอะมาก เดินเข้ามาก้าวแรกก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายห้องสมุดสมัยเรียนเป๊ะ! ไม่ได้หมายถึงความเก่าคร่ำครึนะ แต่เป็นความเงียบสงบ มีแค่เสียงเปิดหนังสือเบาๆ สร้างสมาธิได้ดี รับรู้ได้ถึงความชิล สบาย ผ่อนคลายขึ้นมาในบัดดล

ต้องบอกก่อนว่า เวลามาใช้บริการจะต้องใช้บัตรประชาชนในการสแกนประตูทางเข้านะจ๊ะ ส่วนชาวต่างชาติให้ยื่นเล่มพาสปอร์ตเพื่อยืนยันตัวตน แต่...แต่ว่า วันที่เราไปเครื่องสแกนเกิดขัดข้องเลยอดใช้บัตรเหมือนคนอื่นเลยอะ แต่ยังดีที่มีคุณลุงเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ตลอดเวลา น่ารักมากๆ

พอเข้ามาแล้ว โอ้โห...นี่ห้องสมุดจริงเหรอ? มันดูแปลกตาไปกว่าที่คิดไว้มาก คือเขาออกแบบได้ทันสมัย ภายในโปร่ง โล่ง สบาย มีแชนเดอเลียร์ประดับตามจุดต่างๆ มีป้ายบอกทางเหมือนในศูนย์การค้าหรูๆ มุมอ่านหนังสือก็มีให้เลือกเยอะ ใช้เฟอร์นิเจอร์อย่างดี บางมุมนี่เหมือนล็อบบี้โรงแรมห้าดาวเลยนะคะคุณ!

...

-2-

เราเดินชมจนทั่วทั้ง 4 ชั้น เริ่มจากชั้นแรก มีมุมให้นั่งอ่านแมกกาซีนสุดชิล ออกแบบสไตล์โมเดิร์น ถัดเข้ามาหน่อย เป็นเคาน์เตอร์บริการข้อมูลท่องเที่ยว จากนั้นจะเป็นโซนชั้นหนังสือหมวดทั่วไป เช่น หมวดท่องเที่ยว หมวดสุขภาพและอาหาร เป็นต้น

ส่วนไฮไลต์คือ มุมจัดนิทรรศการ โซนนี้จะเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน มีทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคม ล่าสุดที่เราเพิ่งจะไปชมมาเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับหลักคิดของการอ่าน ศิลปินถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายสีขาวดำ

...

ที่สำคัญยังมีโซนห้องสมุดสำหรับผู้พิการ มีสื่อโสตทัศน์ให้ฟังแทนการอ่าน และถัดไปทางด้านในสุดก็มีห้องฉายภาพยนตร์อีกด้วย น่าเสียดายช่วงที่เราไปยังไม่เปิดให้บริการเลยไม่ได้แวะเข้าชม

ถัดมาเราเดินขึ้นบันไดไปที่ชั้น M (ชั้นลอย) เป็นชั้นสำหรับเด็ก โดยได้รวบรวมหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็ก เยาวชน หนังสือภาพ รวมไปถึงกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับครอบครัวเอาไว้ ใครที่เดินไม่สะดวกที่นี่เขามีลิฟต์ไว้บริการด้วยจ้า แจ่มว้าวสุดๆ

...

ต่อกันด้วยชั้นที่ 2 ชั้นนี้เป็นโซนหนังสือต่างประเทศ วรรณกรรมหายาก หนังสือทั่วไป และมีห้องเงียบหรือพื้นที่ส่วนตัว 3 ห้อง ที่จัดแยกไว้สำหรับคนที่ต้องการค้นคว้าหรือทำรายงานแบบกลุ่ม เราแอบเห็นน้องๆ วัยเรียนมานั่งทำรายงานกันอยู่เยอะเลย ดูขะมักเขม้นกันมากทีเดียว

สุดท้ายคือชั้นที่ 3 มีชื่อว่า “กรุงเทพฯ เมืองสวรรค์” ที่นี่มีโซนจัดแสดงโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9, จดหมายเหตุกรุงเทพฯ, รวบรวมเอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ เอาไว้ เช่น ด้านการเมืองการปกครอง การคมนาคม ผังเมือง ประชากร ประวัติศาสตร์ เป็นต้น

-3-

ปัจจุบันมีหนังสือที่รวบรวมอยู่ภายในหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 41,053 เล่ม เป็นการซื้อเข้ามา และรวมถึงมีการบริจาคสนับสนุนจากองค์การต่างๆ ด้วย สำหรับใครที่อยากยืมหนังสือ เขาก็มีบริการระบบสมาชิก ซึ่งสมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น สามารถยืม-คืนหนังสือ และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้

ค่าสมัครสมาชิก เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี จ่ายเพียงคนละ 5 บาทต่อปี ส่วนเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป จ่ายคนละ 10 บาทต่อปี นอกจากนี้ก็มีค่าประกันหนังสือ อายุไม่เกิน 15 ปี คนละ 20 บาท ส่วนอายุ 15 ปีขึ้นไป คนละ 40 บาท (ถ้าคืนหนังสือเกินกำหนด เสียค่าปรับวันละ 1 บาทต่อเล่ม ถ้าทำหายต้องซื้อใหม่มาทดแทน)

ส่วนวิธีการและขั้นตอนการยืมหนังสือ คือ
1. เมื่อได้หนังสือที่ต้องการยืม ผู้ใช้บริการมาดำเนินการยืมหนังสือได้ที่จุดบริการยืม-คืนหนังสือ บริเวณโถงทางเข้าชั้น 1
2. นำบัตรสมาชิกสแกนเข้าที่เครื่อง และเลือกที่บริการยืมหนังสือ
3. จากนั้นเครื่องจะทำการพิมพ์รายการยืมหนังสือออกมาให้ผู้บริการได้รับทราบ

นอกจากนี้ เรามีข้อควรปฏิบัติเล็กน้อยมาฝากกัน ก็คือ ทางหอสมุดฯ ห้ามเอากระเป๋าขนาดใหญ่ (พอจะใส่หนังสือได้เข้าไปข้างในได้) เข้ามาข้างใน สามารถนำเข้าได้เฉพาะกระเป๋าใบเล็กๆ และกระเป๋าสตางค์เท่านั้น 

ใครถือกระเป๋าใบใหญ่มาจะต้องนำไปฝากไว้ที่ล็อกเกอร์นะจ๊ะ โดยมีตู้ล็อกเกอร์ไว้บริการแบบหยอดเหรียญ ใช้เหรียญ 10 บาท หยอดลงไป 1 เหรียญ หลังจากใช้งานเสร็จก็จะได้เงินส่วนนั้นคืน แต่ตอนนี้ตู้ฝากของมีค่อนข้างน้อย ยังไงก็เตรียมพร้อมไปก่อนจากที่บ้านดีกว่าเนอะ

ใครอยากมานั่งอ่านหนังสือชิลๆ แอร์เย็นสบาย ก็มากันได้ตั้งแต่วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 08.00 น.- 24.00 น. และในวันอาทิตย์ เวลา 09.00 น. – 20.00 น. ปิดทำการในวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อ้อ! ตอนนี้ยังไม่มีบริการแบบ 24 ชม. แต่อย่าเพิ่งนอยด์ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำระบบต่างๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด และพร้อมจะเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้.