การเดินบนพื้นคอนกรีตนานๆ นอกจากมันทำให้เราหลงลืมการสัมผัสพื้นดินแล้ว บางครั้งมันก็ทำให้เราไม่มีรอยเท้าเป็นของตัวเอง

ไทยรัฐออนไลน์พาตัวเองหลีกเร้นจากเมืองคอนกรีต เข้าป่านอกจากไปสัมผัสไอดิน กลิ่นหญ้า พาไปสัมผัสเรื่องราวของผู้พิทักษ์ป่า นักปิดทองหลังพระที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน พาไปเพิ่มรอยเท้า รอยทางให้กับชีวิตได้มีความหมายเพื่อผู้อื่นกัน

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 6 เส้นทางเดิน

เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 1.3 ล้านไร่ เมื่อไปรวมกับอีก 3 อุทยาน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 3.8 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี, นครนายก, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว และบุรีรัมย์ เรียกว่า “ผืนป่าตะวันออก” ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" จากองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” เหตุที่ได้ถูกเลือกเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีสภาพป่าแบบต่างๆ

ตั้งแต่ ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และเป็นต้นน้ำลำธารสำคัญๆ ทั้งแม่น้ำนครนายก, แม่น้ำปราจีนบุรี, ลำตะคอง, ห้วยมวกเหล็ก, และแม่น้ำมูลซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงเป็นแหล่งพบสัตว์ป่าหายาก เช่น เสือโคร่ง

ปัจจุบันเสือโคร่งในธรรมชาติทั่วโลกมีอยู่ไม่ถึง 4,000 ตัวเท่านั้น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเปรยให้ไทยรัฐออนไลน์ฟัง

...

เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางสำนักอุทยานแห่งชาติเพิ่งมีการแถลงข่าวว่า ตรวจพบเสือโคร่งในธรรมชาติบริเวณป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์เป็นจำนวนถึง 18 ตัว ถือเป็นข่าวดีในรอบ 15 ปีทีเดียว ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะการลาดตระเวนที่มีคุณภาพนั่นเอง และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็ยังมีสัตว์ป่ามากมายทั้ง ช้างป่า ชะนี กวาง หมาใน จระเข้ ลิง นกเงือก ฯลฯ

สำหรับเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสกับความร่มรื่นและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ มีด้วยกัน 6 เส้นทาง 

เส้นทางที่ 1 เส้นทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยว-น้ำตกกองแก้ว เดินสั้นๆระยะทางแค่ 1.2 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 เส้นทางผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต ระยะทาง 3 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะได้เจอจระเข้ตัวเป็นๆ ด้วย

เส้นทางที่ 3 เส้นทาง กม.33-หอดูสัตว์หนองผักชี ระยะทาง 3.3 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะร่มรื่นเดินสบายและพบเจอป่าหลายแบบมาก รวมไปถึงแอ่งโป่งขนาดใหญ่ที่เป็นอาหารสำคัญของสัตว์ป่า

เส้นทางที่ 4 เส้นทางดงติ้ว-มอสิงโต ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร จะได้พบอ่างเก็บน้ำสายศร เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดิน

เส้นทางที่ 5 เส้นทางดงติ้ว-หนองผักชี ระยะทาง 5 กิโลเมตร เป็นจุดชมทิวทัศน์เขาเขียวที่มีสภาพป่าดิบแล้ง

และเส้นทางที่ 6 เส้นทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยว-น้ำตกเหวสุวัต ระยะทาง 8 กิโลเมตร วัดใจนักท่องเที่ยวด้วยระยะทางที่ไกลและทางเดินลาดชันสลับพื้นราบ

ในวันนี้เราคุยกับเจ้าของทริป (บริษัทไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ เจ้าของโครงการตู้ยาเพื่อชุมชนที่นำตู้ยาไปมอบ) ในการเข้าป่าศึกษาธรรมชาติของเส้นทางที่ 3 นั่นคือ เส้นทาง กม.33-หอดูสัตว์หนองผักชี ได้เจอพืชพันธุ์หลากหลาย เช่น เห็ดหลินจือยักษ์ โพรงน้ำหวานของผึ้งโพรงและหนีไม่พ้นที่จะเห็นรอยเท้าหมีใกล้ๆ กับโพรงของผึ้ง ต้นปอหูช้าง ซึ่งมีสมญานามว่านักซ่อมป่ากลางแดดจัด เพราะมีใบใหญ่ราวหูช้างทำให้ป่าร่มห่างไกลจากแดด รวมไปถึงต้นไทรยักษ์ใหญ่ ที่เป็นเสมือนภัตตาคารหรูที่เปิดบริการสัตว์ป่าตลอด 24 ชั่วโมง เพราะมีผลสุกเต็มต้น

...

'สัตว์ที่หากินบนเรือนยอด เช่น นก กระรอก ชะมด อีเห็น ลิง ค่าง ชะนีและนกเงือกต่างก็มารวมตัวกันที่ต้นไทรอย่างหนาแน่น' ผู้ทำหน้าที่เสมือนไกด์ร่ายยาวจนเห็นภาพ ทว่าขณะเดียวกันต้นไทรก็ได้รับคำนิยามว่า

“เป็นนักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร” เขาอธิบายต่อว่า เพราะมันจะแอบอิงและกอดรัดต้นไม้ข้างๆ ดูดอาหารจากต้นนั้นๆ จนกระทั่งตายไปเลย ส่วนสัตว์ป่าก็ไม่ใช่เครื่องประดับป่า มันมีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน เมื่อสัตว์ป่าเหล่านี้อิ่มหมีพีมัน ก็ได้เวลาขับถ่าย เมล็ดของต้นไม้ก็จะปลูกหว่านไปทั่วป่า

"ไม่มีใครปลูกป่าได้เก่งไปกว่าสัตว์ป่าอีกแล้ว" เรานึก

...

ผู้อยู่เบื้องหลังความงามของธรรมชาติ

มากกว่าความงาม, กลับมาที่จุดประสงค์หลักนอกจากสิ่งที่ว่า การเดินป่าศึกษาธรรมชาติของอุทยานเขาใหญ่ในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการเดินชื่นชมกับความสวยงามของธรรมชาติเท่านั้น แต่จุดประสงค์หลักที่เจ้าของทริปอยากจะสอดแทรกให้เห็นก็คือ ความสมบูรณ์ของผืนป่าที่กว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ เป็นผลมาจากการทุ่มเทและเสียสละเพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้พิทักษ์ป่า”

ผืนป่าที่กว้างใหญ่แห่งนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า เป็นแหล่งผลิตโอโซนที่สำคัญ เป็นเสมือนปอดขนาดใหญ่ เป็นลมหายใจของพวกเราทุกคน ขณะเดียวกันเมื่อผืนป่ามีขุมทรัพย์ทางธรรมชาติมากมาย ก็ย่อมเป็นที่หมายปองของกลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว อยากตักตวงผลประโยชน์จากผืนป่า

ภารกิจของผู้พิทักษ์ป่า ก็คือ การพิทักษ์รักษาป่าและสัตว์ป่าให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่างๆ งานของผู้พิทักษ์ป่าจะต้องอยู่ในป่า เดือนละประมาณ 15 วัน เข้าไปลาดตระเวนครั้งละ 3-7 วัน แบกเป้ที่มีน้ำหนักหลายสิบกิโลฯ บรรจุน้ำดื่ม ข้าวสารอาหารแห้งสำหรับยังชีพ เปลสนาม เสื้อผ้า 1-2 ชุด ตลอดจนยารักษาโรค เดินไม่น้อยกว่าวันละ 10 กิโลเมตร ทุกครั้งที่เข้าป่าคือการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามมากมายทั้งผู้ร้ายที่ลักลอบตัดไม้ เช่นไม้พะยูง ไม้เงินล้านราคาสูง การลักลอบฆ่าสัตว์ป่า เช่น กวาง กระทิง เป็นต้น เจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมพร้อมในทุกๆด้าน เช่น ฝึกการปลดอาวุธด้วยมือเปล่า เรียนรู้เรื่องพืชสมุนไพรและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ศึกษาการหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น วิธีดื่มน้ำจากการคายไอน้ำของใบไม้ หรือการนำน้ำขี้ช้างมาดื่มในยามฉุกเฉิน เป็นต้น

บางครั้งการเดินลาดตระเวนของพวกเขา ต้องอาศัยประสบการณ์จากการเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งก็ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เช่นความเชื่อที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆ กันมา หากหลงทางแล้วอยากออกจากป่าให้เดินตามรอยเท้าของกระทิง

...

เหตุที่เชื่อกันเช่นนี้เพราะวิเคราะห์จากธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิด กระทิงมีเขาเพราะฉะนั้นมันมักอาศัยอยู่ในที่โล่งๆ ที่ไม่มีเถาวัลย์หรือต้นไม้มาเกี่ยวเขาของมัน จึงเชื่อว่ามันชอบหากินอยู่ในที่โล่ง ถ้าเราหลงอยู่ในป่ารกๆ ให้เดินตามรอยเท้ากระทิงก็จะมีโอกาสออกจากป่าได้ แต่ถ้าอยากหาแหล่งน้ำ ต้องตามรอยเท้าหมูป่าเพราะหมูป่าเป็นสัตว์ที่ชอบแช่ปลัก จึงเป็นไปได้สูงว่ามันมักจะเดินไปหาแหล่งน้ำอยู่บ่อยๆ นี่คือความเชื่อที่ไม่มีบทพิสูจน์จริงเท็จ เป็นเรื่องราวและประสบการณ์ที่ผู้พิทักษ์ป่าบอกต่อๆ กันมา แต่ปัจจุบันการเดินป่ามีเครื่องมือช่วยมากมายเช่น GPS ซึ่งจะช่วยหาพิกัดที่ยืนและทิศทางการลาดตระเวนได้แม่นยำขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุฉุกเฉิน GPS ใช้ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยเรื่องการศึกษาภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ แผนที่ เข็มทิศหรือความเชื่อตามประสบการณ์เหล่านี้ เพื่อช่วยให้ผู้พิทักษ์ป่าสามารถเอาตัวรอดออกมาจากป่าได้

ของที่ต้องการ แต่ไม่เคยร้องขอ กับ ของขวัญที่ดีที่สุด?

ทริปนี้พวกเราอยากให้ทุกคนไปดูการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า และเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปช่วยสนับสนุนพวกเขา เพราะในป่าก็มีอันตรายมากมาย จากอุบัติเหตุ เชื้อโรคต่างๆ และสัตว์ในป่ามากมาย

นอกจากนั้นแล้วยังได้มีโอกาสช่วยเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าเติมโป่งดินเพื่อสร้างแหล่งอาหารให้สัตว์ป่าอีกด้วย โดยเลือกบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็น "ดินโป่ง" มาก่อน แต่ดินเริ่มเสื่อมความเค็มลง แต่ก็ยังมีสัตว์ป่าลงมากินอยู่ ฉะนั้นเมื่อช่วยกันเติมเกลือสมุทรและอาหารเสริมแร่ธาตุ (ก้อนสีส้ม ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมาย เช่น โซเดียมคลอไรด์ แมกนีเซียม เหล็ก ไอโอดีน แมงกานีส ฟอสฟอรัส แคลเซียม เป็นต้น) ลงไปในดินคลุกเคล้าให้เข้ากัน

เมื่อฝนตกลงมาหรือมีความชื้นมันก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น เก้ง กวาง ช้าง โดยสัตว์เหล่านี้จะกินดินจากโป่งดิน หรือดื่มน้ำจากโป่งน้ำเพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุหรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนสัตว์ที่กินสัตว์เป็นอาหารหรือผู้ล่า เช่น สิงโต เสือและหมาใน จะได้ประโยชน์จากโป่งในทางอ้อม โดยใช้เป็นพื้นที่ในการซุ่มโจมตีเหยื่อหรือล่าสัตว์กินพืชที่ลงมากินดินโป่ง ซึ่งการล่าเหยื่อจากบริเวณนี้เป็นคำตอบว่าเหตุใดสัตว์ผู้ล่าจึงไม่จำเป็นต้องกินดินโป่งก็สามารถได้รับแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายได้ ซึ่งประโยชน์จากการกินต่อกันเป็นทอดๆ ส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุลนั่นเอง

“ปัจจุบันการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นการทำงานแบบ National Park 4.0 เพื่อให้สอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 โดยมีการพัฒนาคุณภาพและจำนวนของกล้อง CCTV แบบเดียวกับที่ดักสุ่มดูผู้ก่อการร้าย ซึ่งจะช่วยเฝ้าระวังภัยคุกคามทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ป่าได้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงพัฒนาการลาดตะเวน สู่การลาดตระเวนแบบมีคุณภาพที่เรียกว่า Smart Patrol โดยใช้ GPS นำทาง เราจะรู้เลยว่าเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนไปยังจุดไหนบ้าง มีแบบฟอร์มให้จดบันทึกว่าพบเจออะไรบ้าง รอยเท้าสัตว์ขนาดเท่าไรเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์อายุและประเภทของสัตว์ป่า นอกจากจะช่วยตรวจตราการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้แล้ว ยังถือเป็นการดูแลความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอีกด้วย หากภัยคุกคามอยู่ตรงจุดใด ไม่ว่าจะเป็นคนร้ายหรือการรวมกลุ่มของสัตว์ป่า ก็สามารถแจ้งเตือนและขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ซึ่งน่าจะช่วยให้การดูแลผืนป่าของพวกเราทุกคนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าว

“การดูแลผืนป่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันหยุด จะเพิกเฉยหรือละทิ้งไม่ได้แม้สักวันเดียว การที่มีคนมองเห็นถึงความสำคัญของหน้าที่ตรงนี้ ถือเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เกิดความภาคภูมิใจและมีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น แต่แท้จริงแล้วคนที่ดูแลผืนป่าได้ดีที่สุดไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่คือพวกเราทุกคน เพราะป่าคือแหล่งกำเนิดชีวิต คือลมหายใจของทุกคน และเป็นแหล่งผลิตความสุขให้พวกเรา ป่าคือของพวกเราทุกคน เราจึงควรรักป่า หวงแหนป่าและที่สำคัญควรช่วยกันอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ ถ้าคนรักษ์ป่า ป่าก็จะรักทุกคน เพราะถ้าคนปกป้องป่า ป่าก็จะปกป้องทุกคนเช่นกัน” นี่คือประโยคทิ้งท้ายจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สำหรับพวกเราทุกคน

และทั้งหมดนี้คือภารกิจที่พวกเราไม่เคยรู้ ซึ่งการเข้าไปก็เหมือนการให้กำลังใจพวกเขาและออกมาประกาศให้คนรู้ว่า ยังมีคนที่ทำเพื่อประเทศชาติ เป็นกลุ่มที่ปิดทองหลังพระอยู่ ให้สังคมได้รับรู้.