"คนไทย”...นับแต่สมัยโบราณถึงยุคไซเบอร์ปัจจุบันยังคงให้ความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่แม้จะมองไม่เห็นในมิติแห่งความเป็นจริง แต่ก็ยังนิยมทำพิธีกรรมบูชานำพาชีวิตไปสู่ความเป็นสิริมงคลเบื้องปฐมบท รวมถึงคุ้มครองชีวิตให้ปลอดภัย

โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะเพื่อการเดินทาง ยกตัวอย่าง “เครื่องบิน” ในราชอาณาจักรไทยทุกลำล้วนต้องผ่านพิธีพราหมณ์และสงฆ์...ก่อนทำการบิน

รถยนต์จะใหม่หรือขายเปลี่ยนมือ ก็ไม่พ้นการขอพระเกจิอาจารย์ช่วยเจิมยันต์มงคลให้

“เรือ”...แน่นอนหากย้อนตำนานวิถีไทย ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการเดินทางหาสู่กัน เนื่องจากยามนั้นเรามีแม่น้ำลำธารเชื่อมโยงดั่งสายเลือด ใช้เรือเป็นพาหนะขนส่งโดยสาร

จนเมื่อระบบถนนเข้ามาแทนที่...การเดินเรือจึงค่อยๆจางหาย แต่ไม่ได้หมายถึงสลายไปในที่สุด

“เรือ” เปรียบเสมือนปัจจัยส่งเสริมการเดินทางคนยุคนั้นกระทั่งยุคนี้ และปัจจุบันยังอาศัยใช้ในชีวิตประจำวันของชุมชนริมน้ำ แม้ถนนได้เข้ามาเป็นพระเอกแทนนานแล้วก็ตาม

ความสำคัญของเรือจึงไม่ต่างจากเครื่องบินในธุรกิจการบิน และรถยนต์ปัจจัยที่ห้าของมวลมนุษย์ โดยต้องเซ่นสรวงบูชาก่อนนำลงลอยบนพื้นผิวน้ำสำหรับใช้งาน

O O O O

เกษม ชัยประภา วัย 69 ปี พื้นเพคน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าประสบการณ์ตรงที่เจอมากับตัวให้ฟังว่า อดีตโตมากับเรือที่พ่อใช้ค้าขาย ขนส่งสินค้าจำพวกข้าวสาร ข้าวโพดกากน้ำตาล ไปตามลุ่มน้ำป่าสัก ลพบุรี และเจ้าพระยา ถึงสมุทรปราการ และผ่านแม่น้ำท่าจีนสู่สุพรรณบุรีตั้งแต่อายุ 22 ปี

เกษมได้ชื่อว่า...เป็นสาวก “เรือต่อ” ที่ชาวบ้านเรียก “เรือกระแชง” มีลักษณะลำเรือพองป่องคล้ายลูกแตงโม ให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้มาก

...

คล้าย “เรือเอี้ยมจุ๊น” แต่ต่างกันตรงโครงหลังคาแบบจีนกับไทย ที่ “ไล้ฮู้” ประจำโรงเลื่อยเป็นผู้ออกแบบต่อเรือเอี้ยมจุ๊นขึ้นใช้งาน

เอี้ยมจุ๊นเป็นเรือต่อขึ้นด้วยไม้เคี่ยมเนื้อหยาบ ทำให้มีเสี้ยนระคายมือ ส่วนเรือต่อหรือกระแชงอยุธยาทุกลำต่อด้วยไม้สัก แต่นานปีส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำจะผุก่อน ประจวบกับไม้สักกลายเป็นไม้สงวน จึงใช้ไม้ตะเคียนมาซ่อมแทน เพราะไม้ชนิดนี้ทนอยู่กับน้ำได้ร่วม 100 ปี

นี่จึงเป็นความเชื่อทางหนึ่งว่า...เรือไทยทุกลำที่ขึ้นโครง “กระดูกงู” แล้ว ก็จะ “ขึ้นทวน” ด้วยแผ่นไม้ยึดทับกระดูกงูรอบกราบเรือ เป็นรูปโค้งบรรจบกันตรงปลายทวน จุดนี้เองที่ถูกใช้เป็นฐานประทับ “แม่ย่านางเรือ”

เรือลำใดก็ตามที่ใช้ไม้ตะเคียนภายหลัง จะมีการเชิญ “นางไม้” ซึ่งหมายถึงนางตะเคียนมาสถิตอยู่จุดเดียวกับแม่ย่านาง เพื่อคุ้มครองทุกสิ่งทุกอย่างภายในลำเรือให้แคล้วคลาดปลอดภัย

ด้วยศรัทธาความเชื่อเหล่านี้จึงตกผลึกเป็นธรรมเนียมไทยในแดนอยุธยา ที่เมื่อเรือลำใดต่อเสร็จเรียบร้อย หรือซ่อมจนสมบูรณ์แล้ว และพร้อมจะปลดลงจากคานสู่ลำน้ำป่าสัก ลพบุรี หรือเจ้าพระยา ก็ต้องทำพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางกับนางไม้นางตะเคียนทุกครั้งไป เพราะเรือทุกลำจะต้องขึ้นคานซ่อมปีละครั้ง

“การบูชา” เริ่มจากนำผ้า 3 สี ได้แก่ เขียว เหลือง แดง มาคล้องปลายทวนตรงแม่ย่านางเอาฤกษ์เอาชัย ที่ใครจะเดินข้ามและนั่งคร่อมไม่ได้ จากนั้นถึงตั้งโต๊ะวางเครื่องบูชา ประกอบด้วยข้าวสุกครอบด้วยกรวยใบตอง มีไข่เป็ดต้มเสียบไม้ไว้เหนือกรวย

นอกจากนี้มี “หมูนอนตอง” คือหมู 3 ชั้นวางบนใบตอง บางรายก็ใช้หัวหมู กับผลไม้มงคล อาทิ ส้ม องุ่น มะพร้าว กล้วยหวีงามประดับให้ดูสวยสุด ครูผู้ประกอบพิธีจะจุดธูป 5 ดอกก่อนกล่าวเชิญแม่ย่านาง พร้อมนางไม้และเหล่าเทวดาลงมาชุมนุม ด้วยคาถาชุมนุมเทวดา

คือ “สักเค กาเมจะรูเป คิริสิ ขระตะเต จันจะรีเข...”

การทำพิธีดังกล่าวหากจัดเต็มรูปแบบ จะมีเครื่องคาวหวานเพิ่มเติม โดยมีเงื่อนไขห้ามนำไข่ไก่และอาหารที่มีไก่เป็นเครื่องบูชา ให้เลี่ยงมาใช้ไข่เป็ดเนื้อเป็ดแทนไก่ซึ่งลอยน้ำได้ ที่ผ่านมา...ไม่มีชาวเรือคนไหนกล้าฝืนนอกกรอบ เพราะเกรงเรือจะล่มจมน้ำเหมือนไก่

...

ขณะทำพิธีชาวเรือต้องสำรวมไม่กล่าวคำอัปมงคล เรื่องเรือล่ม หรือเรือเกิดไฟไหม้

O O O O

เคยมีคนพิเรนทร์เอากระดูกไก่ไปคล้องแม่ย่านางที่ปลายทวน ระหว่างปลดเรือลงจากคานไปตั้งบนรถสาลี่ นาทีนั้น... เรือไม่ทันได้แตะน้ำ ลวดสลิงที่ยึดพลันขาดผึงพุ่งลงน้ำทันใด?

“ความแรง” และ “เร็ว” ของเรือบวกอาการไร้หางเสือคัดท้าย ทำให้เรือแล่นข้ามไปกระแทกกับฝั่งตรงข้ามพังยับเยินก่อนจมลงในที่สุด ชาวเรืออยุธยาเชื่อว่า...เหตุการณ์นี้เกิดจากอิทธิฤทธิ์แม่ย่านางกับนางไม้ ที่ต้องการสั่งสอนชนผู้ลบหลู่ท้าทาย

เรื่องเล่าลืออีกรายที่ถูกความ “เฮี้ยน” แม่ย่านางและนางไม้เล่นงานเข้าจนได้ เนื่องจากชอบประพฤติผิดศีลธรรมอยู่ร่ำไป

โดยขณะนายคนนี้นำเรือกระแชงบรรทุกสินค้าจะไปส่งที่กรุงเทพฯ พอเรือแล่นถึงวังน้ำวนหน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร ก็เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันเมื่อเรือล่องไปตามกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก กลับพุ่งชนท้ายเรือโยงตอนหน้า จมดิ่งลงท้องน้ำอย่างรวดเร็ว...“จุดนี้เป็นวังวนอาถรรพณ์ ที่มักมีเรือมาประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นักประดาน้ำเคยดำลงไปสำรวจ พบว่าท้องน้ำที่วนลึกและเชี่ยวจัด มีเรือจำนวนมากจมทับกันอยู่ใต้น้ำ กลายเป็นสุสานเรือมากลำอยู่คู่ลำน้ำสายนี้”

...

ถึงตรงนี้ เกษม คนเรือผู้มีประสบการณ์ตรงแนะนำว่า วิธีปฏิบัติของชาวเรือที่อาศัยเรือเป็นบ้าน ทุกวันพวกเราจะจุดธูป 5 ดอกบูชาแม่ย่านางกับนางไม้ วันใดต้องล่องผ่านวังน้ำวนตรงนี้ จะไม่ลืมจุดธูปไหว้ “หลวงพ่อโต” วัดพนัญเชิงฯ ที่มนุษย์เรือเลื่อมใสศรัทธา ให้ช่วยแผ่บุญกุศลคุ้มครองตลอดทาง

“ผมเคยประสบเหตุครั้งหนึ่ง...ตรงคุ้งน้ำลานเทจุดลำน้ำน้อยบรรจบเจ้าพระยา สาเหตุไม่ได้เกิดจากอุตริใดๆ แต่มันวูบหลับในช่วงเสี้ยววินาที ที่วันนั้นต้องออกเรือตั้งแต่ตีสี่ เพื่อรีบไปส่งสินค้าเมืองกรุง โดยใช้เวลาเดินทางนานร่วมสิบชั่วโมง เรือจึงไร้ทิศทางแล่นชนฝั่งรุนแรงจนผมกระเด็นตกน้ำ แต่ก็รอดมาได้ด้วยเชื่อศรัทธาว่าบารมีแม่ย่านางกับนางไม้ปกป้องภัยให้แน่นอน”

ส่วนการตั้งชื่อเรือกระแชงหรือเรือต่อและเรือเอี้ยมจุ๊น ขึ้นอยู่กับเคล็ดลับของเรือแต่ละลำที่พร้อมร้อยคำว่า “รุ่งเรือง” หรือ “ทรัพย์” ผสม เช่น “เรือนิมิตรุ่งเรือง” นำเที่ยวของนัตตี้’ส แอดเวนเจอร์ทัวร์ ที่เกษมเป็นนายท้ายประจำการ หรือ “เรือเจริญทรัพย์นาวา, สมพรรุ่งเรือง”

...

สุดท้ายนี้สำหรับคนที่อยากขายเรือก็ยังมีการถือเคล็ดเฉกเช่นเดียวกัน...ให้อธิษฐานขอแม่ทั้งสองก่อน แล้วเอาพัดผลิตภัณฑ์จักสานอยุธยา ขึ้นไปปักไว้บนหลังคาเก๋งเรือ...ไม่นานก็จะขายได้อย่างสมหวังตั้งใจ นอกจากนี้ยังมีชาวเรืออยุธยาหลายรายเคยเอาเลขทะเบียนเรือ 4 ตัว ไปบนแม่นางทั้งสอง

ปรากฏว่า...ได้ผลสมปรารถนาถ้วนหน้า เหมือนได้รับมนตร์ดลใจจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปลายทวนเรือ

“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.

รัก-ยม