“จะวิ่งอะไรกันนักหนา… 42.195 กิโลเมตร” ผมเป็นคนนึงที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีความคิดที่อยากจะวิ่งมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิ่งระยะไกลอย่าง ฟูลมาราธอน ระยะทางถึง 42.195 กิโลเมตร

ผมไม่มีระเบียบแบบแผน ออกกำลังกายแบบสบายๆ เหนื่อยก็พัก เมื่อยก็หยุด เพลียก็นอน

การวิ่งระยะไกลแค่เพียง 10 กิโลเมตร มันก็ช่างดูเป็นเรื่องที่ยากมากแล้วสำหรับตัวผม แต่ระยะทางถึง 42.195 กิโลเมตร ระยะเวลาที่ใช้ในการวิ่งมากกว่า 4-5 ชั่วโมง มันต้องใช้ความเพียรพยายาม ต้องมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อมที่สูงมากจริงๆ ฉะนั้น “มาราธอน” มันจึงดูไม่มีความเป็นไปได้เลยสำหรับตัวผม

ลุยครับ
ลุยครับ

ในแง่ของการเป็นหมอรักษาคนไข้เอง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากระแสเรื่องของการดูแลสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…การวิ่ง มีการจัดงานวิ่งแทบทุกสัปดาห์ แน่นอนว่าคนไข้ที่มาหาหมอที่โรงพยาบาลก็มีแนวโน้มที่เปลี่ยนตามไปด้วย ผมเริ่มเจอคนไข้ที่มาปรึกษาเรื่อง

...

ผมยังไหว
ผมยังไหว

การวิ่ง การเริ่มต้นออกกำลังกายมากขึ้น มีตั้งแต่นักวิ่งหน้าใหม่ไปจนถึงนักวิ่งระดับแข่งขันจริงจัง หลายครั้งผมเริ่มรู้สึกว่าการที่ผมจะเป็นหมอที่ดีได้นั้น นอกจากการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนไข้ในเรื่องของการดูแลสุขภาพแล้ว หากผมต้องการให้คำแนะนำและดูแลคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น ผมจำเป็นต้องมีความรู้ในภาคปฏิบัติ ไม่ใช่รู้แค่เพียงทฤษฎีแบบที่เคยเรียนมา

“หากผมอยากจะเข้าใจเรื่องของการวิ่ง ผมต้องออกมาวิ่ง และต้องเป็นนักวิ่งที่ดีให้ได้เสียก่อน”


ก่อนหน้านี้มีเพื่อนนักวิ่งมาชักชวนผมหลายรอบ แต่ผมปฏิเสธมาโดยตลอด เพราะไม่มีความคิดที่อยากจะวิ่ง แต่ไม่รู้ว่ามีสิ่งใดมาดลใจ ในที่สุดผมก็ตัดสินใจสมัครวิ่งก่อนวันปิดรับสมัครเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ที่สำคัญระยะทางที่ผมลงสมัครมันไปไม่ใช่ระยะ 5 กม. มันไม่ใช่ระยะ 10 กม. แต่เป็น 21.1 กม. ระยะฮาล์ฟมาราธอน ซึ่งมันข้ามไปหลายขั้นตอนเลยทีเดียว

แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวผมเป็นคนที่ถ้าตัดสินใจเลือกทำอะไรแล้วก็ต้องมุ่งมั่นและไปให้จนสุดทาง ดังนั้นผมจึงเริ่มมาศึกษาการวิ่งแบบจริงจัง ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง พยายามหาข้อมูลศึกษาท่าทางการวิ่ง การลงน้ำหนักเท้าแบบต่างๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คืออาการเจ็บที่สลับตำแหน่งกันระหว่างต้นขาและเข่า จนกระทั่งต้องหยุดพัก วิ่งอีกก็เจ็บอีก ผมต้องกินยาแก้อักเสบเกือบตลอด 2 สัปดาห์ ยอมรับว่าผมรู้สึกทรมานมาก ตอนนั้นผมจึงเริ่มนึกถึงคำพูดที่หมอหลายคนมักจะบอกกับคนไข้อยู่เสมอ แม้กระทั่งตัวผมเองก็เคยบอกกับคนไข้ว่า……วิ่งมากๆ ระวังเข่าพัง!!! แต่ตอนนี้มันกำลังจะเกิดขึ้นกับผมเองแล้ว ถ้าผมยังคงฝืนฝึกหนักต่อไป

ใจต้องรัก
ใจต้องรัก

...


แต่หลังจากผมเริ่มต้นใหม่ทำตัวสบายๆ ผ่อนคลาย พยายามมีสติกับการวิ่ง ทันใดนั้นความรู้บางอย่างผุดขึ้นมาจากภายในบอกกับผมว่า

“เคยเดินเคยวิ่งอย่างไร ตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ ทำไมต้องทำให้มันผิดธรรมชาติด้วยล่ะ ปล่อยไปตามธรรมชาติสิ” ผมเริ่มเดินช้าสลับกับเดินเร็ว ปล่อยแขนขาตามสบายๆ ไม่มีแบบแผน เหมือนเด็กที่เพิ่งหัดเดิน เด็กที่เพิ่งฝึกวิ่งใหม่อีกครั้ง ในตอนนี้ผมเริ่มจับจังหวะการวิ่งที่ถูกต้อง และเริ่มค้นพบการวิ่งในแบบฉบับของตัวเองได้แล้ว น่าแปลกประหลาดใจว่าจากการค้นคว้าข้อมูลเรื่องการวิ่งภายหลังพบว่า ท่าทางการวิ่ง การลงน้ำหนักเท้า และจังหวะการวิ่งใกล้เคียงกับการวิ่งในแบบที่เรียกว่า “Chi running“ ซึ่งเป็นลักษณะการวิ่งแบบที่ใช้หลักการของไทเก๊กมาผสมผสานกับการวิ่ง ช่วงเวลาฝึกซ้อมเพียงสั้นๆ แค่ 2 สัปดาห์ ในที่สุดผมก็เริ่มต้นภารกิจแรกคือ การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนแรกในชีวิต

จากก้าวแรกถึง 42.195 กิโลเมตร ภายในระยะเวลาเพียง 6-7 เดือน ไม่น่าเชื่อว่าผมได้ผ่านภารกิจและบททดสอบที่ท้าทายมากมาย

...

วิ่ง 1 เดือนเพื่อพิชิตฮาล์ฟมาราธอน 21 กม. วิ่ง 3 เดือนเพื่อพิชิตฟูลมาราธอน 42.195 กม. พิชิตฟูลมาราธอนในเวลาซ้อมจริงจังเพียงแค่  14 วัน วิ่งระยะทาง 84 กิโลเมตร ในรอบ 6 วัน ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนไปวิ่ง “เกียวโตมาราธอน 2018” ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
ในที่สุด “วิถีแห่งมาราธอน” มันได้หล่อหลอมผมให้กลายเป็น “นักวิ่งมาราธอน” เต็มตัวเสียแล้ว

แล้วนั่นคือทั้งหมดของชีวิตที่แท้จริงแล้วเหรอ? คำถามเหล่านี้มักจะผุดขึ้นมาอยู่เสมอๆ มันทำให้ผมคิดและเลือกดำเนินชีวิตในแบบที่แตกต่างจากคนทั่วไปเพื่อค้นหาคำตอบเหล่านั้นให้เจอ หากจะถามว่าจุดเริ่มต้นของการค้นหาคำตอบให้กับตัวเองเริ่มต้นจากตรงไหน ย้อนกลับไปเมื่ออายุราวๆ 8 ขวบ เด็กน้อยคนนึงตื่นขึ้นมากลางดึกเพียงลำพังคนเดียว ในบ้านหลังน้อยแสนอบอุ่น คุณคิดว่าเด็กน้อยหลายคนเมื่อเค้าตื่นขึ้นมากลางดึกส่วนใหญ่เค้าทำอะไรกันละ….? เด็กน้อยคนนี้ลุกเดินสำรวจห้องนอนเพื่อดูว่ามีสมาชิกในครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง มีใครนอนดิ้นจนผ้าห่มหลุดหรือไม่ยอมห่มผ้าตอนกลางคืนบ้างไหม เด็กน้อยคนนี้จะช่วยเอาผ้าห่มคลุมที่ตัวให้ทีละคนๆ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะไม่สบาย

...

ในตอนนั้นเด็กน้อยคนนี้มีความคิดผุดขึ้นมามากมายในหัว “ช่วงเวลานี้มันช่างมีความสุขมากมายจริงๆ ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต ฐานะความเป็นอยู่ ครอบครัว” เด็กน้อยคนนี้รับรู้ได้ถึงความสุขที่เบ่งบานที่อยู่ภายในใจ แต่ทันใดนั้นเองก็เกิดคำถามผุดขึ้นมาจากภายในอีกครั้ง “อ้าว…แล้วถ้าสมมติว่าไอ้สิ่งที่เราเรียกมันว่า “ความสุข” ที่มีอยู่อย่างมากมายเต็มหัวใจ ถ้ามันกลับพังทลายหายไปในชั่วพริบตาละ เรื่องการใช้ชีวิต ฐานะความเป็นอยู่ ครอบครัว คนที่เรารักไม่เป็น อย่างที่เคยเป็น เกิดการพรัดพราก สูญเสีย ….…แล้วเราจะทำอย่างไร?

”ในขณะนั้นไม่มีคำตอบใดๆ ในหัวสมองเลย มันมีเพียงแค่….ความว่างเปล่า!!! ทันใดนั้นเองเด็กน้อยคนนี้เริ่มสัมผัสได้ถึงความกลัวที่มีอย่างมากมายภายในใจ มันค่อยๆคลืบคลานมา เป็นเสมือนเงาที่เข้าปกคลุมตัว พอรู้ตัวอีกทีความกลัวที่มีอยู่อย่างมากมายมันก็ได้เริ่มแผ่ขยายกว้างและเป็นเสมือนหลุมดำดูดเข้าไปอยู่ในโพรงที่ลึกมากๆ มันจมดิ่งลงไป มันเป็นความรู้สึกที่กลัวสุดขีดที่ไม่อาจขัดขืน ดิ้นรนใดๆได้เลยจริงๆ
ความรู้สึกกลัวแบบนี้และความสงสัยที่มีอยู่ภายใน มันไม่เคยลบเลือนไปจากใจได้เลยจริงๆ หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป ผมยังคงดำเนินชีวิตแบบคนทั่วๆไป พร้อมกับแรงขับดันที่มีอยู่ภายใน ผมยังคงเฝ้ารอเวลาที่ผมจะสามารถค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านั้นให้เจอไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม

มีนาคมปี 2559 ณ น้ำตกห้วยทรายเหลือง อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ความสูงราวๆ2,000 เมตรคือการเดินทางไกลด้วยตัวคนเดียวครั้งแรกในชีวิต ระยะทางกว่า15กิโลเมตร ผมใช้เวลาเดินทางราวๆ 2 ชั่วโมงครึ่ง มันเป็นบททดสอบที่ท้าทายครั้งสำคัญ เส้นทางที่ผมเดินไป บางช่วงดูเปลี่ยวและเสี่ยงอันตรายพอสมควร ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก ในระหว่างการเดินทางผมต้องเผชิญกับอากาศค่อนข้างแปรปรวนที่มีทั้งแดดร้อนจัด ฝนโปรย และบางช่วงดูครึ้มฟ้าครึ้มฝนอีกต่างหาก ผมเห็นความคิดในสมองที่ผุดขึ้นมาอย่างมากมายว่า “เรามาทำอะไรที่นี่ มาเพื่อทำอะไรกันแน่” ผมเห็นถึงความกลัวที่มีอยู่ภายในได้อย่างชัดเจน น่าแปลกใจว่าถึงแม้มันจะไม่ใช่ความกลัวที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่มันกลับทำให้ผมนึกถึงความกลัวที่เคยมาเยี่ยมเยียนผมในอดีตเมื่อสมัยผมยังเป็นเด็กอีกครั้ง

การเดินทางไกลเพียงลำพังท่ามกลางสถาณการณ์ที่ยากลำบากและไม่คุ้นเคย ด้วยสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์ มันจะคอยกระตุ้นให้เราระแวดระวังตัวและมีความตื่นตัวอย่างน่าประหลาดใจ ช่วงนาทีนั้นผมไม่สามารถพึ่งพาใครได้เลยนอกจากตัวเอง มันสอนให้ผมได้รู้ว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดนั่นก็คือ “ความกลัว” ที่มีอยู่ภายในตัวเราเองไม่ใช่สิ่งอื่นใดภายนอกเลยเมื่อเราทลายกำแพงแห่งความกลัวลงไปได้เราจะ

ค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง ที่ซ่อนอยู่หลังกำแพงแห่งความกลัวนั้น สุดท้ายผมก็สามารถเดินไปถึงจุดหมายปลายทางจนสำเร็จ การเดินทางไกลเพียงลำพังคนเดียวทำให้ผมมีเวลาได้อยู่กับตัวเองแบบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ผมได้รู้จักตัวเอง และเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

เครดิต

คอลัมน์ของ นพ.ศุภฤกษ์ คุณติสุข คุณหมอที่รักการเดินทาง ชอบท่องเที่ยว ชอบตั้งคำถาม เป็นคุณหมอที่มีความคิด ความอ่านลึก เราจะไม่ค่อยพบในกระแสหลักสักเท่าไหร่ หันมาเขียนหนังสือเพราะการชักชวนของ Raydo ในทริปเกียวโตมาราธอน 2018 จุดประสงค์หลักเพราะอยากถ่ายทอดความคิดดีๆ อยากสื่อสาร ส่งผ่านกำลังใจดีๆ ผ่านตัวหนังสือ 

ติดตามได้ที่ : Doctorrunners