เคยมั้ย? เวลาจองตั๋วเครื่องบินทีไรรู้สึกว่ามันยุ่งยากเหลือเกิน โดยเฉพาะคนที่ชอบท่องเที่ยวมักจะมองหาตั๋วโปรโมชั่นราคาประหยัด แต่ก็นะ...จองยากเย็น จองไม่ได้สักที บางทีจองได้แต่พอจะเดินทางดันยกเลิกไฟลต์ก็มี แล้วต้องทำยังไงถึงจะคว้าตั๋วโปรมาไว้ในครอบครอง?
ไทยรัฐออนไลน์ ชวนมาเจาะลึก 10 ปัญหาการจองตั๋วเครื่องบิน รวมถึงปัญหาที่มักพบบ่อย พร้อมคำแนะนำ วิธีแก้ไขคร่าวๆ เบื้องต้น เผื่อว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับคุณ จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
ล่าสุด มีการแจ้งเตือนจากเพจดราม่าแอดดิก (ที่มา : FB DramaAdd) ระบุว่า "แจ้งเตือน ตอนนี้มันมีคนไปลงข้อมูลในเว็บนึง ที่อ้างว่าเป็นเว็บของแอร์เอเชีย และแจกตั๋วเดินทางให้คนที่เข้าไปกรอกข้อมูลในเว็บมันฟรีๆ มีคนไทยหลงเชื่อเข้าไปกรอกข้อมูลขอตั๋วฟรีกันเพียบแล้วเอามาแชร์ต่อกันในเฟซ

ขอเตือนว่า คนที่คิดว่าตัวเองทำสำเร็จ ได้ตั๋วฟรีแล้วน่ะ ให้ลงแอนตี้ไวรัสในเครื่องหน่อย ยุคนี้มีเว็บหลอกลวง ไวรัสคอมฯ มัลแวร์มีทั่วโลก เวลาเล่นเน็ตใช้คอมฯ ทำธุรกรรมการเงิน โดยไม่มีแอนตี้ไวรัสดีๆ ก็เหมือนวิ่งแก้ผ้าเข้าหาสนามรบดีๆ นี่เอง แต่ถ้าลงแอนตี้ไวรัสไว้ กดเข้าไปก็เตือนเด่นหราแล้ว...ใครหลงกรอกข้อมูลไปแล้วรีบไปเปลี่ยนรหัสกับสแกนเครื่องให้ไวเลยนะ" จ่า กล่าวไว้
...
ขอให้ผู้โดยสารที่หลงเชื่อรีบแก้ไขโดยด่วนนะคะ ส่วนตอนนี้มาดูปัญหาและวิธีจองตั๋วกันเลย...
1. จองผ่านแอปของสายการบินนั้นๆ : เวลาจองเหมือนจะง่าย แต่พอถึงขั้นตอนใกล้ๆ จะชำระค่าตั๋ว มักจะมีปัญหาระบบล้มเหลวกลางคัน ต้องปิดเปิดใหม่ กรอกรายละเอียดใหม่ สุดท้ายก็ชวดตั๋วราคาถูกไปจนได้ รวมถึงจองผ่านหน้าเว็บของสายการบินบางเจ้า เว็บไซต์มักตอบสนองช้า หรือระบบล่ม อันนี้ก็พบบ่อยเหมือนกัน
วิธีแก้ไข : ควรสมัครเป็นสมาชิกของสายการบินนั้นๆ ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ระบบการจองตั๋วจดจำรายละเอียดการเดินทางต่างๆ ของคุณไว้ เช่น ชื่อ-สกุล (เป็นภาษาอังกฤษ) เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เป็นต้น ทำให้จองตั๋วผ่านระบบได้รวดเร็วขึ้น

2. จองแล้วแต่กลับไม่มีเที่ยวบินในระบบ : จองไฟลต์บินจากสายการบินโลว์คอสต์ จ่ายตังค์ไปแล้วแต่กลับหาเที่ยวบินไม่เจอ กรณีแบบนี้ก็พบเจอบ่อยจากสายการบินราคาประหยัด
วิธีแก้ไข : เลือกสายการบินที่น่าเชื่อถือ ด้วยมาตรฐานและประสบการณ์จากสายการบินที่น่าเชื่อถือ ทำให้ความเสี่ยงในการถูกยกเลิกเที่ยวบินมีน้อย และสายการบินก็ต้องอยากรักษาชื่อเสียงด้วยการดูแลคุณอย่างดีที่สุด ตรวจสอบคะแนนนิยมและสถิติการบินของสายการบินที่คุณสนใจได้จากแอร์ไลน์ควอลิตี้ดอทคอม (airlinequality.com)

3. จองข้ามปี : จองตั๋วโปรโมชั่นล่วงหน้าเป็นเดือนหรือจองข้ามปี แต่พอใกล้ถึงเวลาจะเดินทาง สายการบินแจ้งผ่านทางอีเมลมาเลื่อนเวลาเดินทางทั้งไปและกลับ ไฟลต์เดิมยกเลิก โดยให้ผู้โดยสารเลือกเวลาในไฟลต์ใหม่ เหตุการณ์แบบนี้ก็ทำให้หลายคนมีอาการช็อกเบาๆ มาแล้ว
วิธีแก้ไข : ควรเลือกเวลาเดินทางในตั๋วเป็นช่วงเช้าจะ Safty ได้มากกว่า เพราะจะทำให้คุณมีเวลาพอที่จะรับมือหากเกิดเหตุเลื่อนเที่ยวบิน ถ้ารู้ตัวตั้งแต่เช้าก็จะได้มีเวลาจองตั๋วของเที่ยวบินอื่นๆ ที่เหลืออยู่ในช่วงบ่ายหรือค่ำในวันเดียวกันได้
4. ยกเลิกเที่ยวบินกลางคัน : เหตุสุดวิสัยที่คนเดินทางทุกคนต่างส่ายหน้า ไม่อยากเจอ แต่บางครั้งความซวยก็มาเยือน เมื่อคุณพบว่าไฟลต์ที่จองมา ถูกยกเลิกเที่ยวบินเมื่อคุณมาถึงสนามบินแล้ว อันนี้ต้องเรียกสติมาด่วนๆ
วิธีแก้ไข : เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ฝูงชนจะแห่ไปที่ Call Center ของสายการบินนั้นทันที แล้วคิวจะยาวมากๆ มีความวุ่นวายระดับสิบ แนะนำว่าให้สูดหายใจลึกๆ มีสติ แล้วใช้โทรศัพท์กดเบอร์หาศูนย์บริการลูกค้าของสายการบินนั้นๆ เพื่อเช็กสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเจรจาช่องทางแก้ไขที่สายการบินเตรียมรองรับไว้ ซึ่งอาจจะรวดเร็วมากกว่า
...

5. เรียกค่าชดเชย : บางทีเมื่อถูกยกเลิกเที่ยวบิน หรือถูกเลื่อนไฟลต์ นักเดินทางอาจจะไม่รู้ตัวว่าหากสายการบินให้เรารอนานจนเกินเหตุอันควร เราสามารถเรียกค่าเสียหายได้นะ
วิธีปฏิบัติ : หากสายการบินยกเลิกเที่ยวบินล่วงหน้า ปกติจะมีการส่งอีเมลและโทรหาผู้โดยสาร และจะมีการคืนค่าโดยสารในรูปแบบของบัตรกำนัล หรือคงเงินที่ชำระไว้สำหรับเปลี่ยนเป็นเที่ยวบินอื่นภายในระยะเวลาที่ระบุ แต่อย่าเพิ่งไปตกปากรับคำ เพราะมันอาจจะไม่ได้ครอบคลุมค่าชดเชยทั้งหมด ทางที่ดีควรสอบถามเรื่องค่าตั๋วให้ละเอียด ถ้าต้องเสียตังค์ซื้อตั๋วใหม่ควรต่อรองให้สายการบินชดเชยให้

...
6. เช็กสกุลเงินให้ชัวร์ : ถ้าคุณจองตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศ ในราคาโปรโมชั่นผ่านตัวแทนหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ทราเวลโลก้า เอ็กพีเดีย ทริปแอดไวเซอร์ อะโกด้า หรืออื่นๆ คุณต้องใส่ใจดูรายละเอียดสกุลเงินสักนิด ถ้าไม่อยากเสียตังค์หลักหมื่นแบบไม่ตั้งใจ เคยมีกรณีผู้โดยสารเห็นเพียงตัวเลขค่าตั๋วถูก แล้วกดจองเลยพร้อมชำระเงิน ทั้งๆ ที่ราคาที่โชว์นั้นไม่ใช่สกุลเงินไทย อาจเป็นเงินสกุลอื่นๆ ที่คุณต้องไปคำนวณเป็นเงินไทยเอาเอง
วิธีแก้ไข : หากเผลอกดจองพร้อมชำระเงินไปแล้ว ทางออกคือ ให้รีบโทรไปที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทตัวแทนนั้นๆ เพื่อให้เขาช่วยเหลือในการยกเลิกและคืนเงิน แต่ในบางเคสเราแอบได้ยินมาว่ามันเกินขอบเขตที่เขาจะช่วยเหลือได้ แปลว่าคืนเงินไม่ได้ แบบนี้ก็ซวยไป ดังนั้น คราวหน้าก่อนจองต้องเช็กให้ดี และสอบถามราคาจากคอลเซ็นเตอร์ให้ชัดเจน พร้อมบันทึกเสียงการสนทนาไว้เป็นหลักฐาน

7. รู้ทันก่อนไฟลต์เลื่อน : การจองตั๋วโปรโมชั่นราคาถูกเป็นเวลานานๆ อาจจะจองข้ามปีไว้หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้พึงระลึกไว้ว่า ตั๋วแบบนี้มีโอกาสสูงที่จะมีการเลื่อนเวลา หรือเลื่อนวันของไฟลต์ที่จองไว้ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าสายการบินนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงเวลาบินใหม่?
...
วิธีปฏิบัติ : ให้เข้าหน้าเว็บ ล็อกอินเข้าสู่ระบบของสายการบินนั้นๆ เข้าไปดูในรายละเอียดการจองตั๋วของคุณ เช็กดูเที่ยวบินที่จองข้ามปีเอาไว้ ว่าเวลาบินเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หรืออีกวิธีหนึ่งคือให้เข้าไปสู่หน้าการจองตั๋วใหม่ แต่ให้เลือกวันเวลาไป-กลับ ที่เราจองเอาไว้นั่นแหละ แล้วเช็กว่าวันที่เราจองมันโชว์ขึ้นมาหรือเปล่า เช็กให้ชัวร์ก่อนบินประมาณ 2 สัปดาห์นะจ๊ะ

8. หาราคาโปรไม่เจอ : เวลามีตั๋วราคา 0 บาท หรือตั๋วโปรอื่นๆ ในราคาถูก ทำไมมักจะหาราคาที่ว่านั้นไม่เจอ หรือถ้าหาเจอก็จองไม่ได้สักที
วิธีปฏิบัติ : ตามปกติตั๋วโปรโมชั่นจะมีกำหนดช่วงระยะเวลาเดินทางไว้ชัดเจน เช่น โปรโมชั่นนี้ใช้สำหรับเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ บลาๆๆๆ ถึงวันที่ บลาๆๆ เป็นต้น ดังนั้นเวลาจองตั๋วโปรจึงต้องเลือกช่วงวันเวลาการเดินทางให้ถูกต้อง และราคาโปรมักจะโชว์ขึ้นมาในช่วงวันธรรมดา เช่น จันทร์-พฤหัสบดี ส่วนช่วงวันหยุดวีคเอนด์ จะไม่พบราคาดังกล่าว
9. จองตั๋วโปรยังไง : วิธีจองตั๋วโปรโมชั่นจองยาก จะโทรจองผ่านคอลเซ็นเตอร์ก็ไม่ได้ ซื้อผ่านหน้าเคาน์เตอร์สายการบินก็ไม่ได้อีก แบบนี้ต้องทำไง?
วิธีปฏิบัติ : ปกติตั๋วโปรราคาถูก สายการบินต่างๆ มักจะเปิดให้จองผ่านหน้าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของทางสายการบินเท่านั้น ช่องทางอื่นจะไม่เปิดให้จอง ทำใจนะ แล้วเรียนรู้การจองตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ดีกว่า

10. ขอรีฟันเงินค่าตั๋ว : เคยมีกรณีที่จองตั๋วโปรราคาถูกแบบข้ามปี แล้วพบว่าก่อนเดินทาง สายการบินมีการเปลี่ยนเวลาของไฟลต์บินที่เราจองไว้ จากช่วงสายมาเป็นเที่ยวแรกเวลาเช้าตรู่ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาขึ้นเครื่องได้ทันเวลา แบบนี้ทำไงดี?
วิธีแก้ไข : ให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของสายการบินนั้นๆ โดยปกติทางสายการบินจะยินดีชดเชยให้ โดยทำการ refund เงินค่าซื้อตั๋ว แต่ต้องเป็นในกรณีที่เราจ่ายด้วยตัวเอง มีหลักฐานการจ่ายเงิน อันนี้จะขอ refund ได้ง่าย แต่ถ้าบังเอิญว่าขั้นตอนการชำระเงิน เป็นคนอื่นจ่ายให้ โดยที่เราไม่มีหลักฐานการชำระเงินอยู่กับเรา อันนี้ทางสายการบินเขาจะไม่สามารถช่วยเหลือได้