'เงา' กับ 'เหงา' บางทีภาพที่ถ่ายออกมาก็คล้ายจะเป็น 'คนละเรื่อง' แต่ทว่าหลายครั้งสิ่งที่ว่าก็กลับกลายตาลปัตร 'เป็นเดียวกัน'
รวมๆ แล้วองค์ประกอบความเหงา หรือ สิ่งประกอบของแสงเงาที่ตกกระทบ 'ใจ' ตกกระทบสิ่งรอบๆ กาย ภาพที่สื่อสารออกมาหลายหลากให้สนุกกับการตีความ น่าจะอยู่ที่ 'บรรยากาศ' อยู่ที่ 'ช่างภาพ'
กระทั่งอยู่ที่ 'ธรรมชาติ' จะผายมืออนุญาตให้คนเก็บและตีความโมเม้นต์นั้นๆ ออกก็เป็นได้ เรียกว่าหลายปัจจัย หลายองค์ประกอบมากมายแล้วแต่จะว่ากันไปตามความหมายส่วนตัว อะไรทำนองนั้น
ภาพเล่าเรื่องไทยรัฐออนไลน์สัปดาห์นี้เอามาจากเปิ้ล ดนิตา นักท่องสาวพาไปชมความงดงามของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แม้สิ่งที่เราเห็นมองผ่านๆ จะคล้ายซากปรักหักพัง แต่ลึกลงในนั้นมีเรื่องราว ที่เล่าขานถึง 'ราก' ของการเป็นปึกแผ่นของคนไทย ที่งดงามและชวนไปชม
...
...
...
...
**รู้ไว้ใช่ว่า**
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งมีอำนาจอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า (เขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า) อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน (เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนจรดวิถีถ่อง)
ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ อุทยานแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ด้วยความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีผู้เยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี ซึ่งสามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานเที่ยวชมได้
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการประกาศคุ้มครองครั้งแรกตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 โครงการฟื้นฟูอุทยานแห่งนี้ก็ได้รับการอนุมัติ และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัย ภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร"
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย โทรศัพท์ : 0-5569-7241
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) ค่าธรรมเนียมการเข้าชม : นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท