ไม่อยากจะเห็นภาพโกลาหลของน้ำท่วมทะลักเมือง อยากจะให้ป่าน้อยใหญ่เป็นผ้าห่มธรรมชาติ อย่างยั่งยืน บุญทักษ์ หวังเจริญ บอสใหญ่ ทีเอ็มบี ร่วมกับอาสาสมัครทีเอ็มบีเขตเชียงใหม่และสำนักงานใหญ่ ชุมชนบ้านสันลมจอย เทศบาลตำบลสุเทพ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา จ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรม “ปลูก เปลี่ยน ป่า พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน” 1 ใน 18 โครงการไฟฟ้า อินอะบ็อกซ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ของทีเอ็มบี ในการช่วยปรับเปลี่ยนผืนป่า ณ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย บ้านสันลมจอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยความร่วมมือที่ “เปลี่ยน” ป่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้น หรือเป็นการจุดประกายให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของผืนป่า ประโยชน์ของป่า ที่จะพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยว ช่วยสร้างงานและรายได้ ถ้าชุมชนร่วมมือ ร่วมใจกัน ป่าก็จะได้รับการอนุรักษ์และดูแล เป็นชุมชนเข้มแข็ง และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กิจกรรม “ปลูก เปลี่ยน ป่า พัฒนาสู่แหล่ง ท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน” ได้ดำเนินการ “เปลี่ยน” ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่สำรวจ คิด วางแผน กำหนดแนวทาง และลงมือปฏิบัติ รวมถึงการนำพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและป่าเบญจพรรณ อาทิ ต้นยางนา ต้นพะยอม ต้นมะค่าโมง ต้นดอกเสี้ยว ต้นบุนนาค และต้นยมหอม มาปลูกเสริมกว่า 800 ต้น บนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย การปรับเส้นทางเดินเข้าสู่ผืนป่า พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 2.5 กิโลเมตร พร้อมมีป้ายอธิบายถึงลักษณะธรรมชาติจำนวน 9 จุดศึกษา ได้แก่ ร่องรอยจากอดีต ดงตะแบก ดงหินถิ่นกำเนิด ทักทายจอมปลวก ต้นไทรนักบุญแห่งป่า ผีปันน้ำ ดงไผ่ไม้สารพัดประโยชน์ ลานหินยินเสียง พงไพร และน้ำแห่งชีวิต รวมถึงการอบรม มัคคุเทศก์น้อยแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านโป่งน้อย ให้ได้ภาคภูมิใจในผืนป่าที่มีในชุมชน และจุดประกายให้เยาวชนได้ศึกษาหาความรู้ต่อยอดต่อไป
...
สุรเชษฐ์ ตาคำมา ผู้ใหญ่บ้านชุมชนสันลมจอยหรือผู้นำคนรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า พ่อหลวงเอ เผยว่าบ้านสันลมจอยมีความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทั้งพิธีกรรมและประเพณีพื้นบ้าน ที่คนท้องถิ่นดั้งเดิมและพี่น้องชนเผ่า อาทิ ชาวอาข่า ชาวลีซู ฯลฯ ยังคงรักษาสืบทอดกันมาและมีทรัพยากรผืนป่าที่พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้เป็นอย่างดี เมื่ออาสาสมัครทีเอ็มบีเขตเชียงใหม่ เข้ามาพูดคุยถามถึงความต้องการของเรา ได้คุยปรึกษากัน สำรวจพื้นที่ วิเคราะห์ถึงจุดอ่อนจุดแข็งและปัญหาต่างๆ จนได้แนวทางการพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเพื่อศึกษาธรรมชาติและอยากเผยแพร่ให้คนภายนอกได้รู้จัก เมื่อมีคนมาเที่ยวก็จะเกิดอาชีพเพิ่มขึ้น อย่างมัคคุเทศก์น้อยที่อาสาสมัครทีเอ็มบีมาช่วยฝึกอบรมเยาวชนโรงเรียนบ้านโป่งน้อย นอกจากนี้ ชาวชุมชนสามารถเพิ่มรายได้ด้วยการขายสินค้าเกษตร อาหารของพื้นเมืองแก่นักท่องเที่ยว ได้อีกทางหนึ่งด้วย.