Bangkok Design Week 2025 เฟส 2: บวกพลังสร้างสรรค์ ย่านพระนคร - บางลำพู เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 (Bangkok Design Week 2025) ภายใต้ธีม “Design Up+Rising: ออกแบบพร้อมบวก+” เดินหน้าสู่เฟส 2 ระหว่างวันที่ 15 - 23 กุมภาพันธ์ 2568 ยกทัพความคิดสร้างสรรค์สู่ย่านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อย่าง พระนคร และ บางลำพู - ข้าวสาร ผสมผสานอดีตและปัจจุบันผ่านงานออกแบบร่วมสมัย
หลังจากการจุดประกายความสร้างสรรค์ในเฟสแรก เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 (Bangkok Design Week 2025) ภายใต้ธีม “Design Up+Rising: ออกแบบพร้อมบวก+” ไปแล้ว

งานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 ยังคงเดินหน้าต่อในเฟสที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 - 23 กุมภาพันธ์ 2568 โดยคราวนี้ขยับเข้าสู่ย่านพระนคร, บางลำพู - ข้าวสาร ที่เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการพลิกโฉมให้กลายเป็นเวทีแห่งงานออกแบบร่วมสมัยที่ผสมผสานอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกันอย่างงดงาม
...
เฟสที่ 2 นี้ โดดเด่นด้วยโปรแกรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ ผ่านนิทรรศการและงานศิลปะ, โปรแกรมสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงพื้นที่และผู้คนในชุมชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น, การจัดการพื้นที่สาธารณะของเมือง, โมเดลต้นแบบยกระดับร้านค้าในย่านเมืองเก่า, กิจกรรมสร้างบรรยากาศให้กับเมือง, โมเดลต้นแบบทางเลือกขนส่งสาธารณะ และเวิร์กช็อปเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะพาคุณสำรวจมุมมองใหม่ ๆ ของเมืองที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันไว้ได้อย่างลงตัว

โดยจะเปลี่ยนโฉมย่านนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ ที่สะท้อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย พร้อมเป็นหมุดหมายสำคัญของงานออกแบบร่วมสมัยด้วยโปรแกรมที่น่าสนใจที่จัดขึ้น กว่า 46 โปรแกรมในย่านพระนคร และ 42 โปรแกรมในย่านบางลำพู – ข้าวสาร ทุกโปรแกรมถูกออกแบบเพื่อส่งต่อพลังบวก และสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงศิลปะ วัฒนธรรม และนวัตกรรมอย่างลงตัว และพร้อมที่จะพัฒนาเมืองไปด้วยกัน
ไฮไลต์โปรแกรมงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 "ย่านพระนคร และบางลำพู-ข้าวสาร"

อัณฑะเหมียวครองเมือง + หมาน้อย หมาน้อยธรรมดา by จรจัดสรร: งานที่นำเสนอผลงานในรูปแบบศิลปะกับหมาแมว โดยให้คนที่เข้ามาชมงานใช้เวลาร่วมกับแมวจรจัด และหมาจรจัด ที่นำออกมาจากศูนย์พักพิงของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นรูปแบบการหาบ้านเชิงรุกวิธีหนึ่ง โดยทั้งหมดออกแบบภายใต้แนวคิด ‘ยินดีต้อนรับกลับบ้าน’ เหมือนกับการโอบกอดหมาแมวจรด้วยความรัก ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดพื้นที่ให้เป็นเหมือนบ้าน ที่เราได้จำลองการใช้ชีวิตร่วมกันกับหมาแมวจรที่ออกมาหาบ้าน สถานที่ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

Made in Phranakorn โดย Urban Ally: โปรเจกต์ที่พาเหล่านักสร้างสรรค์มาเจอกับเจ้าของร้านรุ่นเก๋าในย่านพระนคร เพื่อช่วยกันพัฒนาและออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ พร้อมช่วยเป็นแนวทางให้กิจการดั้งเดิมปรับตัวและเดินต่อไปได้ในยุคสมัยใหม่ นำเสนอผ่านเรื่องราวของ The old town’s favourite หรือ 5 ของโปรดชาวพระนคร สถานที่:ถนนสำราญราษฎร์
- Re-scented Pranakorn โดย Eqlibrum X Nangloi – นำน้ำอบนางลอยมาตีความใหม่ ให้สามารถใช้ได้ในทุกโอกาส
- ชาไทยยุคใหม่ โดย UA X Creator X ร้านใบชาตรากระต่าย – ปรับรูปแบบและแพ็กเกจให้ใบชาเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น
- เผือกทอดแนวใหม่ โดย UA X Creator X ร้านยุ้ยเผือกทอด เสาชิงช้า – ขยายเมนูจากเผือกทอดดั้งเดิมให้มีความทันสมัยขึ้น
- นิยมโภชนา Rebranding โดย UA X Creator X นิยมโภชนา เสาชิงช้า – อัปเกรดร้านอาหารจีนที่มีประวัติยาวนานให้เข้ากับยุคปัจจุบัน
- อรรคภัณฑ์ 4.0 โดย UA X Creator X อรรคภัณฑ์ – เปลี่ยนโฉมร้านสังฆภัณฑ์เก่าแก่ให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น
...

MinutePocket_UrbanBed โดย SP/N: โครงการเชิงทดลองที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมระยะสั้นบนที่ดินส่วนบุคคลที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรืออยู่ในสภาวะรอการพัฒนา โดยนำสิ่งก่อสร้างที่สร้างความเป็นไปได้ของการ ‘งีบในที่สาธารณะ’ กับ ‘การปีนป่าย’ ของเด็กในสนามเด็กเล่น มาติดตั้งเป็นการชั่วคราว เพื่อสร้างให้เห็นตัวอย่างของการนำพื้นที่ดินส่วนบุคคลที่ยังไม่ถูกใช้งาน ซึ่งกระจายตัวแทรกซึมอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร มาใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ สถานที่:ถนนสำราญราษฎร์
ปุ๊บปั๊บสเปซ โดย ณัฐฐาพร จอมหงษ์ (Urban Ally) Puppup Parklet: โครงการทดลองออกแบบเปลี่ยนพื้นที่จอดรถ 2-3 ช่อง ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก ภายใต้แนวคิด “การคืนพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า” โดยเปลี่ยนพื้นที่ของรถให้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชนและการพักผ่อนแบบชั่วคราว โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงพื้นที่เมืองให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน โดยมีการขยายพื้นที่ทางเท้า กำหนดช่องจราจรให้ชัดเจน และออกแบบมาตรการเพื่อลดความเร็วของการจราจร เพิ่มความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อคนเดินถนนในย่านพระนคร ทั้งยังเป็นแนวทางที่ช่วยจุดประกายให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างยั่งยืนและเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะมากขึ้น สถานที่:ถนนสำราญราษฎร์
...
มุมมองชราจร RISE IMPACT โดย RISE IMPACT ‘มุมมองชราจร’: ชวนมาเปิดมุมมองและประสบการณ์ ให้คุณได้เห็นถึงความท้าทายในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุในเมือง ทั้งการเผชิญกับทางเท้าที่ไม่เรียบ การเรียกรถรับส่งที่ยากลำบาก การขึ้นรถประจำทางที่ท่ารถไกลออกไปหลายกิโลเมตร ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่สะดวกสบาย ไปจนถึงความกังวลใจกับภัยจากมิจฉาชีพแม้จะอยู่ในบ้านของตัวเอง - สิ่งเหล่านี้จะถูกร้อยเรียงผ่านภาพและป้าย โดยหวังให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่จะนำไปสู่เมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกวัยมากยิ่งขึ้น สถานที่:เกาะกลางอุณากรรณ
Power of Design Urban Ally โดย Urban Ally: อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยประกอบด้วย 15 อุตสาหกรรม แล้วทั้งหมดนี้จะมีส่วนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองของเราดีขึ้นอย่างไรบ้าง Urban Ally จะพาทุกคนมาร่วมสัมผัสกับโครงการ Power of Design ที่จะบอกเล่าเรื่องราวพลังของการออกแบบ สถานที่:ถนนสำราญราษฎร์
MEGA MAT: Reimagining Waste into Wonder โดย MVRDV + NL Embassy + GC MVRDV Architects ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, PTT Global Chemicals และสถานทูตเนเธอร์แลนด์: สร้าง ‘Mega Mat’ เสื่อพลาสติกรีไซเคิลขนาดยักษ์สำหรับงาน Bangkok Design Week 2025 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการหมุนเวียนใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า โดย Mega Mat คือการเฉลิมฉลองความอเนกประสงค์ของ ‘เสื่อ’ ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนที่ครอบครัวชาวไทยใช้รองนั่งมาหลายชั่วอายุคน โดยนำเสื่อพลาสติกรีไซเคิลผืนยักษ์มาปูไว้เต็มลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มุมหนึ่งนำเสนอนิทรรศการที่บอกเล่าถึงข้อมูลต่างๆ ของเสื่อ ขณะที่เสื่อส่วนที่เหลือขนาด 860 ตารางเมตร นั้นออกแบบให้ทุกคนสามารถแวะเข้ามานั่งพักผ่อน เป็นเสมือนห้องนั่งเล่นของเมือง โดยรูปทรง ลวดลาย และสีของเสื่อได้รับแรงบันดาลใจจากหลังคาของวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังลานคนเมือง สีสันของเสื่อจะไล่ระดับให้เข้าใกล้จุดศูนย์กลางสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเป้าหมายการไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน นอกจากนี้เสื่อแต่ละผืนยังทอด้วยลวดลายแบบดั้งเดิมเพื่อสะท้อนถึงศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยอีกด้วย สถานที่ : ลานคนเมือง
...
Boundless Pleasure โดย DecideKit (The Public Storytelling by Projection Mapping): การนำเสนอเรื่องราวและความเคลื่อนไหวทางความคิดของผู้คนในเมือง โดยใช้งานออกแบบ Projection Mapping ฉายบนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หนึ่งในอาคาร และพื้นที่สาธารณะสำคัญของย่านพระนคร โดย Boundless Pleasure เป็นผลงานจากความร่วมมือของนักออกแบบสร้างสรรค์ชาวไทยและชาวต่างชาติ ภายใต้การนำของกลุ่ม DecideKit และได้รับการสนับสนุนจาก Epson Thailand สถานที่:ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ออฟ โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ โดย KopeHyaTaiKee: กว่า 70 ปีที่ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ได้สร้างและส่งต่อตำนานความอบอุ่นคู่พระนครผ่านร้านกาแฟแห่งนี้โดยทายาททั้ง 4 รุ่น ตั้งแต่มีโต๊ะเพียง 3 โต๊ะ จนพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มตามความนิยมของยุคสมัยมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปรับในสิ่งที่ควรปรับ เปลี่ยนในสิ่งที่ควรเปลี่ยน และเก็บในสิ่งที่ควรเก็บ ด้วยความตั้งใจที่พร้อมจะเติบโตไปกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยผนึกกำลังร่วมมือกับเหล่าศิลปิน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ผ่านงานออกแบบเพื่อถ่ายทอดความเป็นโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตำนานความอบอุ่นคู่พระนครแห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน The ART of KopeHyaTaiKee ถือเป็นธีมหลักของโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์ เราจึงได้ตีความ ‘อาร์ต’ ของโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ออกมาเป็น 6 ส่วน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของร้าน สถานที่:โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์

โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ x BEERPITCH: “BANGKOK” Street art โดย KopeHyaTaiKee ‘BANGKOK’ Typography Street art by BEERPITCH: ผลงานการออกแบบ Typography art ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ลงบนผลงาน street art บนกำแพงร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ สาขาเสาชิงช้า และมีตู้สติ๊กเกอร์สำหรับถ่ายภาพให้ตัวชิ้นงานสามารถ interactive กับผู้ชมได้ พร้อมกรอบภาพสุดพิเศษเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น อีกทั้งจะมีเวิร์กชอปที่ได้ลองพิมพ์ลายจากกำแพง 'BANGKOK’ Typography Street art by BEERPITCH ผ่านแม่พิมพ์ลวดลายลิมิเต็ดที่ได้เตรียมไว้ นำมาพิมพ์ลายลงบนกระเป๋าผ้าที่ชื่นชอบ สร้างสรรค์เป็นภาพพิมพ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ออกแบบได้เอง และสามารถแชร์ภาพกิจกรรมเพื่อรับส่วนลดเครื่องดื่มภายในร้านได้อีกด้วย สถานที่:โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ เสาชิงช้า

Wonder wall โดย TAKANAO TODO DESIGN: โครงการ Wonder wall วัสดุทำผนังจากกระจกรีไซเคิล พัฒนาโดย ลาภยศ ประสิทธิโศภิน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และธนวัฒน์ ตั้งจารุศรีธราธร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Takanao Todo Design สตูดิโอสัญชาติญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการนำเศษกระจกนิรภัยกลับมาใช้ประโยชน์ ในฐานะวัสดุใหม่ที่มีความโดดเด่น หวังเพิ่มการรับรู้ในสังคมมากขึ้น สถานที่:เสาชิงช้า

ThaiOldGraphy โดย Craftsman Roastery: การเดินทางของเทคโนโลยีการพิมพ์จากยุโรปสู่ประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของประวัติศาสตร์ตัวอักษรและการพิมพ์ในไทย นิทรรศการ ‘ThaiOldGraphy’: From Ancient to Present Times โดยอนุกูล อัศววิบูลย์

Little Local beyond Ordinary: โดย Silpakorn Office of Art Culture and Creativity การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่สะท้อนชุมชน (Community reflection in art) เพื่อตามหา ‘เรื่องราวสิ่งเล็กๆ’ ของสถานที่ ส่งต่อให้ศิลปินนำไปสร้างสรรค์ผลงานที่ ‘ก้าวข้ามความธรรมดา’ ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ คุณค่า ความทรงจำ ต้นทุนที่พร้อมบวกความคิดใหม่ และการตีความใหม่ได้ โดยศิลปินจะเข้ามาสำรวจ เรียนรู้ สังเกตหรือเสวนากับชุมชนในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นกลับไปทำงานสร้างสรรค์ในสตูดิโอของตนเอง แล้วจึงนำผลงานกลับมาจัดแสดงหรือรังสรรค์กิจกรรมร่วมกับชุมชนในช่วงเทศกาลต่อไป สถานที่: ถนนมหรรณพ

ซากแห่งเวลาที่เป็นคลื่น โดย Mark C.: โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ กับคลอง โดยติดตั้งเครื่องสร้างคลื่นและการฉายแสงแบบเชิงเส้นที่เชิงเขื่อนคลอง เพื่อซ้อนทับภาพที่มีชีวิตชีวาในอดีตลงบนภูมิทัศน์เมืองยุคปัจจุบัน ผู้เข้าชมสามารถเปิดใช้งานเครื่องสร้างคลื่นเพื่อเลียนแบบผิวน้ำที่สั่นกระเพื่อมจากการเดินเรือ สะท้อนภาพของคลองในอดีตที่หายไป โดยนิทรรศการตั้งอยู่ตามถนนกรุงเกษม เลียบคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งใต้ ถนนเส้นนี้มีความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับเครือข่ายคลองในกรุงเทพฯ ทั้งอดีตและปัจจุบัน บนฝั่งหนึ่งมีโรงเรียน และอีกฝั่งมีพิพิธภัณฑ์รถไฟที่ปิดแล้ว ทั้งสองสถานที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของเมือง ข้างคลองมีทางเท้ากว้างขวาง ทำให้เหมาะแก่การมีปฏิสัมพันธ์จากคนเดินผ่าน ซึ่งตอบโจทย์โครงการนี้ที่ตั้งใจกระตุ้นให้สาธารณชนกลับมามีส่วนร่วมกับสายน้ำที่ถูกลืมของกรุงเทพฯ สถานที่: สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
พื้นที่ให้พัก โดย GU Space: จากพื้นที่พักผ่อนส่วนตัวของนักท่องเที่ยว สู่พื้นที่พักผ่อนอีกหนึ่งมิติสำหรับผู้คนที่เร่งรีบกับการใช้ชีวิต ด้วยความตั้งใจดำเนินกิจการโฮสเทลที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน Once Again Hostel และ GU Space จึงสร้างสรรค์พื้นที่ดาดฟ้าของ Once Again Hostel ให้เป็นมากกว่าแค่สถานที่พักผ่อนสำหรับชาวต่างชาติที่แวะเวียนเข้ามา แต่ยังเป็นพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงผู้คน และทำให้เข้าถึงย่านประตูผีจากมุมมองที่แตกต่าง โดยเปิดให้เป็นที่พักผ่อนของทุกคน รวมทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้ชมได้ฟัง สัมผัส และอยู่กับสิ่งตรงหน้าให้มากขึ้น สถานที่: Once Again Hostel

เฌิง และ เฌย โดย KopeHyaTaiKee เฌย กับ เฌิง: เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งที่ใช้ศิลปะในการนำของเก่าเก็บมากระชากใหม่ เฌย นำโมลเก้าอี้หัวโล้นจีนเก่าเก็บมาบิดการผลิต plastic แบบ mass ด้วยการหยอดสีด้วยมือแบบไม่มี sequence ตายตัว ด้วยสีที่ควบคุมไม่ได้และลายที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ ทำให้เฌยเป็นได้มากกว่าเก้าอี้ที่ใช้นั่ง แต่เป็นงานศิลปะที่เล่นกับความไม่แน่นอน ต่อยอดมาเป็นเฌิงที่ผสานหัวเฌยกับลูกกรงเซรามิกเก่าเก็บ เป็น assemblage ที่หยิบจับสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่อยู่เดี่ยวๆ อาจจะดูไม่มีมูลค่ามารวบรวมและเสนอไปตามส่วนต่างๆ ของร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์ ถือเป็น way ใหม่ๆ ให้กลมกลืน และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้ สถานที่: โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์
- ย่านบางลำพู-ข้าวสาร

คำเล็ก เรื่องใหญ่ ดื่มด่ำประสบการณ์อาหารบางลำพู โดย DECIDEKIT x SUTO x Banglamphu Everyday: กิจกรรม ‘ดื่มด่ำประสบการณ์อาหารบางลำพู: คำเล็ก เรื่องใหญ่’ จึงอยากจะเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารของทุกคน ผ่านรสชาติของอาหารทานเล่นตามแบบฉบับของบางลำพู โดยผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสกับบรรยากาศที่มีการจัดแสงและศิลปะที่สร้างสรรค์มาเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า พร้อมกับฟังเรื่องราวและวัฒนธรรมที่ล้อมรอบย่านเก่าแก่แห่งนี้ โดยเน้นความสบายๆ และการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงานในรูปแบบที่เป็นกันเอง เพราะฉะนั้นกิจกรรมนี้จึงไม่เพียงแค่เป็นการลิ้มลองรสชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้และเข้าใจถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ในทุกประสาทสัมผัส ทั้งได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และได้ลิ้มรสความเป็นบางลำพูอย่างลึกซึ้งและครบถ้วน สถานที่: ห้างนิวเวิลด์
Face of Khaosan โดย POHCHANG x MEK PAWORNPON x SONJAI HOUSE: นิทรรศการภาพถ่ายชาวข้าวสาร เล่าเรื่องราวของผู้คนที่เปรียบเสมือนตัวแทนในแต่ละช่วงเวลาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสะท้อนถึง 'ชีวิต' บนพื้นที่ที่ไม่เคยหลับใหล สถานที่: ถนนข้าวสาร
บางลำพู's everything โดย Banglamphu everything: นิทรรศการของนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งต่อยอดมาจากนิทรรศการ ‘บางลำพู everything Showcase’ โดยตั้งใจจะถ่ายทอดเสน่ห์ของย่านเก่าแก่แห่งนี้ ผ่านเรื่องราวของผู้คน วิถีชีวิตและพื้นที่ที่หลอมรวมจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน สถานที่: บัดดี้เบียร์
Fashion of Banglamphu โดย Pohchang x INTHAI: ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว บางลำพู ถือว่าเป็นย่านขายเสื้อผ้ายอดนิยมอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ คึกคักทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เสน่ห์ของบางลำพูไม่เคยเลือนหาย สิ่งเหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะจัดวาง ‘Fashion of Banglamphu’ ซึ่งจะมาบอกเล่าเรื่องราวของย่าน ‘แฟชั่น’ แห่งนี้ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สถานที่: ดี แอนด์ ดี พลาซ่า (โรงแรมดั้งเดิม)
ตามเก็บโปรแกรมต่าง ๆ ของเทศกาลฯ ให้ครบทุกพื้นที่จัดงานทั่วกรุงเทพฯ และหากใครชื่นชอบผลงานชิ้นไหนที่คิดว่าจะช่วยเปลี่ยนกรุงเทพฯ ที่ดียิ่งขึ้นได้ แค่โพสต์ลง Social Media ของตัวเอง พร้อมติด Hashtag #UpRiseBangkok #DesignYourChange แค่นี้ก็นับว่าคุณได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเมืองแล้ว แล้วมาดูกันว่าพลังของงานดีไซน์ และเสียงของคุณจะเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน? มาร่วมขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ทุกคนอยากอยู่ไปด้วยกัน