การเปิดตัวฟีเจอร์สร้างภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ใน ChatGPT โดยบริษัท OpenAI ได้จุดประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ หลังจากผู้ใช้จำนวนมากสามารถสร้างสรรค์ภาพที่ดูคล้ายกับผลงานภาพยนตร์แอนิเมชันอันเป็นเอกลักษณ์ของ Studio Ghibli ได้
นับตั้งแต่โอเพนเอไอเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่มีชื่อว่า Images in ChatGPT ส่งผลให้เกิดการถกเถียงอย่างมากในประเด็นของลิขสิทธิ์
ในเว็บบอร์ด Reddit ของกลุ่มแฟนคลับ Ghibli (subreddit r/Ghibli) ได้มีการยืนยันการบังคับใช้กฎที่มีอยู่เดิมอย่างเคร่งครัด ซึ่งห้ามการเผยแพร่ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นโดย AI ทั้งนี้ ผู้ดูแลเว็บบอร์ดรายหนึ่งโพสต์ข้อความย้ำว่า เราไม่อนุญาตให้โพสต์ภาพ AI ที่นี่ และนโยบายนี้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เทคโนโลยี AI เริ่มเป็นที่แพร่หลาย
กลุ่มแฟนคลับส่วนใหญ่มองว่า การสร้างภาพเลียนแบบโดย AI ไม่ใช่การแสดงความเคารพต่อศิลปิน แต่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากโมเดล AI เหล่านี้ถูกฝึกฝน (Trained) โดยใช้ชุดข้อมูลซึ่งรวมถึงภาพผลงานต้นฉบับของศิลปินอย่างฮายาโอะ มิยาซากิ โดยไม่ได้รับการอนุญาตหรือจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์
สถานการณ์นี้ยิ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของแฟนๆ สตูดิโอ จิบลิ ไม่น้อยเนื่องจาก ฮายาโอะ มิยาซากิ เคยแสดงทัศนะต่อต้านผลงานที่สร้างจาก AI อย่างชัดเจนในอดีต โดยในปี 2016 ระหว่างการชมการสาธิตแอนิเมชัน 3 มิติที่สร้างโดย AI เขาได้กล่าวว่า "ผมดูสิ่งนี้แล้วไม่รู้สึกสนใจเลย คนที่สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาไม่เข้าใจความเจ็บปวดเลยแม้แต่น้อย ผมรู้สึกขยะแขยงอย่างที่สุด"
...
นอกเหนือจากสไตล์ของจิบลิแล้ว ยังพบว่ามีการใช้ AI สร้างภาพเลียนแบบสไตล์ของสตูดิโอ Pixar และภาพประกอบของ Dr. Seuss อีกด้วย แม้กระทั่งบัญชีผู้ใช้ X ของทำเนียบขาวสหรัฐฯ ก็เคยเผยแพร่ภาพที่สร้างด้วย AI ในสไตล์จิบลิ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ในเวลานี้ ภาพที่สร้างด้วย AI ในสไตล์ของสตูดิโอ จิบลิ ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางบนอินเทอร์เน็ต แต่ทางสตูดิโอและผู้กำกับคนสำคัญอย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ วัย 84 ปี ยังคงไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อปรากฏการณ์นี้อย่างเป็นทางการออกมา
ที่มา: TechCrunch