โอเพนเอไอ ผู้พัฒนา ChatGPT อาจทำให้โลกวรรณกรรมของนักเขียนเป็นอันต้องสั่นคลอน เมื่อแซม อัลท์แมน เปิดเผยว่ากำลังพัฒนาโมเดลใหม่ที่มีทักษะการเขียนนิยายขั้นดีมาก แต่ยังไม่เปิดเผยกำหนดการเปิดตัว

แซม อัลท์แมน ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งโอเพนเอไอ โพสต์ผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า บริษัทกำลังพัฒนาโมเดลเอไอรุ่นใหม่ โดยเน้นไปที่ทักษะด้านการเขียน ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ “ดีมาก” ตามความเห็นของอัลท์แมน 

พร้อมกันนี้ แซม อัลท์แมนได้แชร์ตัวอย่างงานเขียนยาวๆ ตามจำนวนอักขระที่เอ็กซ์จะอนุญาตให้โพสต์เป็นเรื่องสั้นที่ถูกเขียนในแนวเรื่องซ้อนเรื่อง (Metafictional) โดยใช้คำสั่ง (Prompt) ว่า Please write a metafictional literary short story about AI and grief.

อย่างไรก็ตาม อัลท์แมนไม่ยืนยันว่าโมเดลเอไอที่มีทักษะด้านการเขียนงานเชิงวรรณกรรมจะพร้อมเปิดตัวในช่วงเวลาใด

ทั้งนี้ แนวเรื่องซ้อนเรื่อง หรือ Metafictional ในเชิงวรรณกรรมมีความหมายว่าเรื่องราวที่ผู้เขียนหรือเรื่องเล่ามีการแสดงออกว่าตัวเองเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น ตัวละครอาจรับรู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในเรื่องแต่งในบทประพันธ์ หรือผู้เขียนพูดกับผู้อ่านโดยตรง บ่อยครั้งก็จะมีลักษณะของการเล่นเรื่องของเส้นแบ่งระหว่างเรื่องเล่ากับความเป็นจริง และทำให้ผู้อ่านรู้สึกตัวตลอดเวลาว่ากำลังอ่านผลงานที่ถูกประพันธ์ขึ้นมาอยู่ เป็นต้น ตัวอย่างงานในสไตล์ Metafictional เช่น ผลงานของยูสไตน์ โกเดอร์ (Jostein Gaarder) นักเขียนชาวนอร์เวย์

...

เราสามารถกล่าวได้ว่า โอเพนเอไอไม่ได้เน้นการฝึกฝนโมเดลในเชิงของการเขียนนิยายและวรรณกรรมมากนัก เพราะที่ผ่านมาโมเดลที่โอเพนเอไอชูขึ้นมาจะเป็นการเขียนโปรแกรม การแก้โจทย์สมการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งโมเดลนี้อาจทำให้นักเขียนนิยายถูกท้าทายมากขึ้น

ที่มา: TechCrunch