สัตยา นาเดลลา เป็นชื่อที่คอไอทีรู้จักเป็นอย่างดีในฐานะซีอีโอคนปัจจุบันของไมโครซอฟท์ โดยที่เจ้าตัวดำรงตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานเกิน 10 ปี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่พลิกฟื้นไมโครซอฟท์ให้กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ และทำให้ไมโครซอฟท์ขยายตลาดนอกเหนือจากการเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ จนเป็นที่รู้จักในฐานะคู่แข่งธุรกิจเกมของโซนี่ 

ใครคือ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella)

สัตยา นาเดลลา เป็นพนักงานของไมโครซอฟท์ตั้งแต่ปี 1992 เพียงแต่ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อสัตยาได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอของไมโครซอฟท์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 และเป็นซีอีโอคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของไมโครซอฟท์ ต่อจากบิล เกตส์ และสตีฟ บอลเมอร์ 

ถ้าดูจากชื่อ เราคาดเดาได้ไม่ยากว่า สัตยา นาเดลลา เป็นชาวอินเดีย และถือเป็นหนึ่งซีอีโอบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มาจากอินเดีย จนมีคำกล่าวที่จริงจังปนติดตลกว่า สินค้าส่งออกของประเทศอินเดียหาใช่ปิโตรเลียม, เหล็ก, อัญมณี หรือเครื่องประดับ หากแต่เป็น “ซีอีโอ” ต่างหาก

สัตยา มีพื้นเพจากเมืองไฮเดอราบัด เจ้าตัวจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัย มังกาลอร์ ในอินเดีย ปริญญาโทจากวิสคอนซิน-มิลวอกี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยชิคาโก

ก่อนหน้าที่ สัตยา จะก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอของไมโครซอฟท์ สัตยาเป็นผู้นำโครงการสำคัญต่างๆ ภายในบริษัท ไม่ว่าจะเป็น การดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยและพัฒนาฝ่ายบริการออนไลน์ การเป็นรองประธานฝ่ายธุรกิจ รวมถึงรองประธานบริหารกลุ่มคลาวด์และธุรกิจองค์กร ซึ่งตอนนี้เป็นหนึ่งในรายได้หลักของไมโครซอฟท์

ผลงานเด่นของสัตยา

...

สัตยา นาเดลลา
สัตยา นาเดลลา

การก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอไมโครซอฟท์ของ สัตยา นาเดลลา ถือได้ว่าเป็นงานที่ “หิน” ใช่เล่น สิ่งที่สัตยาทำเป็นอย่างแรกๆ คือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร เน้นหนักในเรื่องของการเห็นอกเห็นใจ การทำงานร่วมกัน และมีกรอบความคิดแบบ “growth mindset” ตามแนวทางของ แครอล ดเว็ค ผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “Mindset” (มีแปลเป็นภาษาไทย ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา mindset)

ในเวลาเดียวกัน สัตยา นาเดลลา ได้ผลักดันให้ไมโครซอฟท์ขยายตลาดไปยังธุรกิจเกม เริ่มต้นจากการเข้าซื้อกิจการ โมแจง (Mojang) สตูดิโอผู้พัฒนาเกม Minecraft ในปี 2014 หลังจากนั้นไมโครซอฟท์ (ภายใต้แบรนด์ Xbox) ยังคงซื้อสตูดิโอเกมชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเบเธสดา (Bethesda) ผู้พัฒนาเกมซีรีส์ Fallout เรื่อยไปจนถึงการซื้อสตูดิโอที่สะเทือนเลือนลั่นไปทั้งวงการ นั่นคือ แอคติวิชัน บลิซซาร์ด (Activision Blizzard) 

ขณะที่ ฝั่งไอทีก็มีการซื้อกิจการลิงค์อิน (LinkedIn) และกิตฮับ (GitHub) ในปี 2016 และ 2018 ตามลำดับ

Hit Refresh หนังสือขึ้นหิ้งของสัตยา

สัตยา นาเดลลา และหนังสือ Hit Refresh
สัตยา นาเดลลา และหนังสือ Hit Refresh

นอกเหนือจากงานบริหารไมโครซอฟท์แต่ละวันแล้ว สัตยา ยังมีผลงานหนังสือที่มีชื่อว่า Hit Refresh: The Quest to Rediscover Microsoft's Soul and Imagine a Better Future for Everyone (มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ พลิกธุรกิจด้วยวิถีไมโครซอฟท์ Hit Refresh)

หนังสือเล่มนี้ สัตยาได้เล่าถึงเรื่องราวหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ ประวัติส่วนตัวของตัวเองตั้งแต่เกิด และใช้ชีวิตในช่วงที่อยู่ประเทศอินเดีย รวมถึงการเล่าในหนังสือด้วยว่า คอมพิวเตอร์เครื่องแรกในชีวิตก็มาจากประเทศไทย ต่อด้วยการบริหารและพลิกฟื้นวัฒนธรรมองค์กรให้ไมโครซอฟท์กลับมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลกเทคโนโลยีได้อีกครั้งหนึ่ง 

นอกจากนี้ ยังมีพาร์ตที่บอกเล่าเกี่ยวกับหลักการทางธุรกิจ เบื้องหลังการทำงานของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นซีอีโอบริษัทชั้นนำอย่างไมโครซอฟท์ และการดำเนินชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านสามารถปรับใช้กับตัวเองทั้งในด้านการดำเนินการทางธุรกิจ และบทเรียนชีวิต

...

ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว

ด้วยความที่ สัตยา เป็นคนอินเดีย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กีฬาที่อยู่ในดวงใจของซีอีโอไมโครซอฟท์ ย่อมต้องเป็นกีฬาคริกเก็ต ซึ่งถือได้ว่าเป็นกีฬาประจำชาติของชาวอินเดีย พร้อมกับเคยเป็นนักกีฬาให้กับทีมโรงเรียน 

ในหนังสือ Hit Refresh สัตยายกย่องกีฬาคริกเก็ตว่า มีส่วนช่วยที่ทำให้เขามีกรอบความคิดที่เฉียบคมด้านธุรกิจ และความเป็นผู้นำของเขา นอกจากนี้แล้ว สัตยา และภรรยาของเขา ยังเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของทีมซีแอตเทิล ซาวน์เดอร์ส ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ร่วมกับนักธุรกิจคนดังเป็นจำนวนมาก 

คลินต์ เดมป์ซีย์ อดีตนักเตะฟูแลม ในสีเสื้อของ ซีแอตเทิล ซาวน์เดอร์ส
คลินต์ เดมป์ซีย์ อดีตนักเตะฟูแลม ในสีเสื้อของ ซีแอตเทิล ซาวน์เดอร์ส

ทั้งนี้ ซีแอตเทิล ซาวน์เดอร์ส เป็นทีมฟุตบอลที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับไมโครซอฟท์อย่างยาวนาน โดยในช่วงปี 1994 ไมโครซอฟท์เคยเป็นสปอนเซอร์ให้กับชุดแข่งของทีมซีแอตเทิล ซาวน์เดอร์ส จากนั้นในปี 2009 จนถึง 2018 เครื่องเล่นเกมคอนโซล Xbox ก็ก้าวขึ้นมาเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับทีม ก่อนที่จะเปลี่ยนมือเป็น Zulily บริษัทด้านอีคอมเมิร์ซ และ Providence โรงพยาบาลไม่แสวงหาผลกำไร ในปี 2019 และ 2023 ตามลำดับ

...

ในวันพรุ่งนี้ (1 พฤษภาคม) สัตยา นาเดลลา จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อกล่าวเปิดงาน Microsoft Build: AI Day ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยที่สัตยาจะมาร่วมพูดคุย พบปะกับชุมชนนักพัฒนา และผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม 

แน่นอนว่าเป้าหมายของงานนี้ตรงตามชื่อคือ “AI Day” โดยเป็นการพูดถึงโอกาสใหม่ๆ ของเทคโนโลยี AI รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลไทย.

อ้างอิง: Microsoft, The Economic Times, Business Insider, บางส่วนของหนังสือ Hit Refresh