กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเป็นที่นิยมของนักลงทุนรุ่นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ทำให้ตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากโฟกัสเฉพาะภาพรวมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยพบว่า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเหรียญต่างๆที่ซื้อขายกันมีราคาสูงขึ้นมาก จนสร้างเศรษฐีหน้าใหม่อายุน้อยให้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน จูงใจให้นักลงทุนจำนวนมากกระโจนเข้าไปลงทุน

ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า จากสิ้นปี 63 มีจำนวนบัญชีที่เปิดซื้อขายกับ Exchange หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพียง 170,000 บัญชี ล่าสุด จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,800,000 บัญชี โตขึ้น 10 เท่า หรือมากกว่า 1,000% และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่นับรวมนักลงทุนไทยที่ออกไปเปิดบัญชีซื้อขายกับ Exchange ต่างประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับหรือได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.ไทย

สอดคล้องกับมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากเดือน ธ.ค.ปี 63 มีมูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท แต่เดือน พ.ย.64 มูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นมาถึง 205,000 ล้านบาท ขณะที่ยังพบว่าผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่า 90% เป็นบุคคลธรรมดาที่มีอายุ 20-40 ปี

...

กระแสการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยเริ่มร้อนแรงสุดๆ เมื่อเหรียญคริปโต ที่เป็นที่นิยมที่สุดของโลก อย่างเหรียญ “บิทคอยน์” ราคาทะยานแตะเหรียญละ 1,000,000 บาท แม้จะย่อตัวดิ่งลงมาหลังจากนั้น แต่ก็สามารถกลับทะยานขึ้นมาแตะ 2,000,000 บาท ได้อย่างรวดเร็ว ล่าสุดปลายเดือน ธ.ค.64 จะเคลื่อนไหวอยู่ราว 1,600,000-1,700,000 บาทต่อเหรียญ

ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีการซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันทำการโดยไม่มีวันหยุดแม้แต่นาทีเดียว!! แถมราคาซื้อขายไม่มีการกำหนดเพดานราคาขึ้น-ลง เหมือนหุ้นที่กำหนดให้ขึ้นและลงได้ไม่เกิน 30% ภายใน 1 วัน จึงทำให้ราคาสินทรัพย์มีความผันผวนขึ้น-ลงสูงมาก!!

หลายคน หรือคนส่วนใหญ่ในประเทศ หรือแม้กระทั่งนักลงทุนรุ่นเก่าอาจจะยังงงๆ ไม่เข้าใจว่า สินทรัพย์ดิจิทัลคืออะไร เหมือนหรือต่างกับหุ้นอย่างไร ใครเป็นผู้กำกับดูแล เป็นโอกาสทางเลือกหรือความเสี่ยงในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน

วันนี้เรามาทำความรู้จัก และเข้าใจสินทรัพย์ดิจิทัลเบื้องต้นกัน โดยสำนักงาน ก.ล.ต.ได้แบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) และโทเคนดิจิทัล (digital token) ซึ่งมีลักษณะและการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน

1.คริปโตเคอร์เรนซี เป็นเหรียญดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือใช้แลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน เช่น เหรียญบิทคอยน์, อีเธอเรียม เป็นต้น รวมทั้งคริปโตเคอร์เรนซีที่มีการตรึงมูลค่า (peg) ไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินต่างๆ หรือที่เรียกว่า “stable coin”

2.โทเคนดิจิทัล เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือเหรียญ ที่แยกย่อยเป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 investment token ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ โดยเหรียญประเภทนี้ มีความคล้ายคลึงกับหุ้นหรือหลักทรัพย์ ที่อาจให้สิทธิผู้ถือได้รับผลตอบแทนคล้ายทุน (equity-liked) หรือคล้ายหนี้ (debt-liked) หรืออ้างอิงกับกระแสรายรับจากทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ประเทศไทยมีการระดมทุนออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่อ้างอิงกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ ตัวแรกคือ SiriHub Token

2.2 utility token ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดยมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว บันเทิง หรือพลังงาน ที่มีการแปลงคูปอง voucher คะแนนสะสม บัตรเข้าชมงาน หรือใบรับรองต่างๆให้อยู่ในรูป token เพื่อความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน และเข้าถึงผู้ใช้งานได้มากขึ้น

และด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการและป้องกันการปลอมแปลง ทำให้มีการนำผลงานศิลปะ เพลง รูปภาพ ของสะสมเกี่ยวกับศิลปินหรือนักกีฬามาทำให้อยู่ในรูป non-fungible token (NFT) ซึ่งเป็นช่องทางสร้างรายได้และกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ utility token ยังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “utility token พร้อมใช้” และ “utility token ไม่พร้อมใช้” โดย “utility token พร้อมใช้” สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้บริการได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก ขณะที่ “utility token ไม่พร้อมใช้” ยังไม่พร้อมให้ใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้น ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต เพราะจะต้องนำเงินที่ได้จากการขาย utility tokenไปจัดหาสินค้าหรือพัฒนาบริการให้เสร็จก่อน

...

ก.ล.ต.กำกับดูแล “สินทรัพย์ดิจิทัล”

ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ที่ได้กำหนดให้การออกเสนอขาย investment token และ utility token ไม่พร้อมใช้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เนื่องจากมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน เช่นเดียวกับหุ้นหรือหลักทรัพย์ ที่มีการให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนในโครงการ และมีความผูกพันในทางกฎหมายระหว่างผู้ออกและผู้ถือโทเคนดิจิทัล

โดยผู้ที่จะออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Issuer) จะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และให้มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.เท่านั้น

แต่หากเป็นการออกเสนอขายคริปโตเคอร์เรนซี รวมทั้ง stable coin ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ได้มีโครงการหรือกิจการใดๆ รองรับ และ “utility token พร้อมใช้” นั้น ก.ล.ต.ไม่ได้กำกับดูแลการออกเสนอขาย แต่จะกำกับดูแลการทำหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี และ “utility token พร้อมใช้” ตามที่กำหนด

...

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ในปัจจุบันมี 5 ประเภท ทั้งการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ได้แก่

1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) 2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) 4.ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor) 5.ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (fund manager)

โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจาก รมว.คลัง และต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีเงินทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยง ทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า การมีระบบต่างๆที่ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความพร้อมด้านระบบงานและสามารถให้บริการผู้ลงทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดด้วยความรับผิดชอบแนวทางการกำกับดูแล

สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ยึดหลัก โดยสนับสนุนการพัฒนาควบคู่กับการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยมีแนวทางกำกับดูแลให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจและสภาพการณ์ปัจจุบัน ให้เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพัฒนาการด้านนวัตกรรมทางการเงิน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขณะเดียวกันได้ยกระดับการกำกับดูแล ในเรื่องสำคัญให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

ขณะที่กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ (principle based) ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร ที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การดำรงเงินกองทุน, การดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ, การระบุตัวตนของลูกค้า (KYC) และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน, การเปิดเผยข้อมูลเงื่อนไขการให้บริการ ช่องทางการติดต่อ สิทธิและหน้าที่ของลูกค้า ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี)

...

รวมถึงมีบุคลากรที่มีความรู้ให้คำแนะนำไม่ทำให้ลูกค้าสำคัญผิด ไม่เร่งรัดการตัดสินใจ และการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้า และมีข้อตกลงกับลูกค้าเรื่องความรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการให้บริการ เป็นต้น

แนะศึกษาข้อมูลก่อนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

สำหรับ ผู้ที่สนใจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แนะนำให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจและผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ www.sec.or.th และแอปพลิเคชัน “SEC Check First” เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงให้ใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับใบอนุญาต

และด้วยสภาพตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนสูง ก.ล.ต.จึงแนะนำให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการลงทุน โดยมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

ศึกษาข้อมูลให้เข้าใจความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่ชักชวนลงทุนโดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง และสำรวจว่าตนเองสามารถรับความเสี่ยงและความผันผวนได้ เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง ประเมินมูลค่าได้ยาก และอาจเป็นเพียงการลงทุนเพื่อเก็งกำไร จึงต้องประเมินตนเองว่ายอมรับการสูญเสียของเงินลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน

หากไม่เคยลงทุนในหลักทรัพย์มาก่อน ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมไม่เป็นภาระต่อตนเองและครอบครัว เพราะมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนทั้งก้อน นอกจากนี้ ต้องหมั่นติดตามบัญชีลงทุนอยู่เสมอ

...ยังมีรายละเอียดเรื่องราวของสินทรัพย์ดิจิทัลอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสินทรัพย์เหล่านี้ และเรายังไม่ได้พูดถึง Decentralized Finance หรือ “DeFi” บริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์บนระบบบล็อกเชน ที่ไม่พึ่งพาตัวกลาง ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกการเงิน รวมทั้ง Metaverse โลกเสมือนกับสินทรัพย์ดิจิทัล ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ก.ล.ต. และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ได้ร่วมทำโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีและสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจัดคอร์สออนไลน์ให้ความรู้พื้นฐาน เป็นคลิปวิดีโอที่เข้าใจง่าย เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “Start-to-invest” และเพจ “สำนักงาน กลต.” ที่อยากแนะนำให้มือใหม่ได้ศึกษาก่อนเข้าลงทุน เพื่อให้เข้าใจและรู้จักโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น!!

ทีมเศรษฐกิจ