ปัจจุบันมีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม ลูกหลานส่วนใหญ่จึงต้องรับหน้าที่ผู้ดูแลญาติผู้ใหญ่คนใกล้ชิดที่มีภาวะดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยเพื่อรับมือและปรับตัวปรับใจของตนเองเพื่อไม่ให้เครียดกับการดูแลด้วย
หากพบว่าคนในครอบครัวเริ่มมีอาการสมองเสื่อม ควรเตรียมตัวเตรียมใจ เพราะอาการและการดูแลต่างจากโรคอื่น ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และถูกวิธี เพราะความสามารถในการใช้ชีวิตและการทำกิจวัตรประจำวันจะลดลงไปเรื่อยๆ
1. ทำความเข้าใจสมองเสื่อม
อาการระยะแรกผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะดูเหมือนคนปกติ แค่ขี้ลืมหรือทำอะไรแปลกๆ แต่ก็มักจะหาเหตุผล ที่สมเหตุสมผล ทำให้ญาติแยกไม่ออกว่าปกติหรือป่วย หรือญาติคิดมากไปเอง และลังเลใจที่จะเริ่มชวนไปพบแพทย์

...
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีการรับรู้เปลี่ยนไปจากคนปกติ อาการที่พบได้บ่อย เช่น พูด บอกอะไรก็ลืมง่ายๆ การใช้เหตุผลบิดเบี้ยวไปจากเดิม และไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลที่เราพยายามอธิบาย ในบางรายการมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย เช่น หลงผิด มโนคิดว่าสิ่งที่ไม่มีจริงเป็นจริง หูแว่ว หรือเห็นภาพหลอน
นิสัยใจคอและพฤติกรรมที่ผิดแปลกไป เรื่องง่ายๆ ที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ ถามซ้ำวกวน เดี๋ยวขี้ใจน้อย เดี๋ยวของขึ้น ญาติก็อาจมองว่าน่ารำคาญ น่าโมโห แต่ก็ต้องเข้าใจว่าทั้งหมดนั้นมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง
2. ยอมรับความจริง
สมองเสื่อมของผู้ป่วยเกิดจากสาเหตุที่รักษาไม่หาย แต่ชะลออาการได้ด้วยการรักษาและการดูแลจากครอบครัว ดังนั้นลูกหลานผู้ดูแลควรต้องทำใจยอมรับในตัวผู้ป่วยที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนคนเดิม ไม่เก่งเท่าอดีต หลงลืม ทำตัวแปลกๆ เข้าใจอะไรยากขึ้น ฯลฯ และใช้วิธีปรับพฤติกรรมผู้มีภาวะสมองเสื่อมเข้าช่วย
3. เข้าใจ เห็นใจ และเมตตา
ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจทำอะไรให้เราขุ่นเคืองใจ หรือไม่ได้ดั่งใจ บางครั้งมีอารมณ์ร้าย สร้างความปั่นป่วน ที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ดูแลได้ แต่พึงเตือนตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากความเจ็บป่วย และไม่มีใครอยากป่วยเป็นแบบนี้ ก็จะให้อภัยผู้ป่วยได้

4. ปรับตัว ปรับใจ รับความเปลี่ยนแปลง
ในฐานะผู้ดูแลควรท่องไว้ในใจเสมอว่าเมื่อเราเป็นคนที่ไม่ป่วย เราคือคนที่ปรับเปลี่ยนได้ และควรช่วยดูแลกันเป็นทีม ครอบครัวควรปรึกษากัน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งด้านการดูแลและค่าใช้จ่าย อย่าลืมว่าผู้ดูแล 1 คน ไม่สามารถเฝ้าผู้มีภาวะสมองเสื่อมได้ตลอดเวลา จำเป็นต้องมีการหยุดพัก ผลัดเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นผู้ดูแลอาจเครียดและป่วยเองได้

5. หาความรู้
ผู้ดูแลหลายคนก็เพิ่งมีประสบการณ์ที่มีคนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมครั้งแรก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะไม่เข้าใจว่าควรต้องมีวิธีการดูแลผู้สูงวัยสมองเสื่อมอย่างไรให้ถูกวิธี ซึ่งผู้ดูแลสามารถปรึกษาแพทย์ โรงพยาบาล รวมถึงหน่วยงานที่ให้ความรู้ความช่วยเหลือ อ่านหนังสือ และศึกษาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่น่าเชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีหลายช่องทางที่มีข้อมูลความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมให้เลือกมากมาย
...
นอกจากนี้ การให้ผู้สูงวัยที่ป่วยโรคสมองเสื่อมเข้าใจและยอมรับในความเจ็บป่วยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดูแลรักษา แต่ก็ต้องพิจารณาจากพื้นฐานเดิมของแต่ละคนด้วยว่า จะเข้าใจ ทำใจยอมรับข่าวร้ายได้มากเพียงใด ผู้ดูแลควรเลือกวิธีที่เหมาะสม อ่อนโยนกับแต่ละคน ผู้สูงวัยที่เป็นสมองเสื่อมในระยะที่หลงลืมเยอะแล้ว ก็อาจจะลืมว่าตนไม่สบาย เราก็อย่าไปกดดันหรือบังคับว่าเขา “ป่วยนะยอมรับสิ” ประโยคนี้อาจกระทบต่อจิตใจ เกิดผลเสียตามมาแทน

ขณะเดียวกัน ผู้ดูแลควรให้กำลังใจ พร้อมทั้งกระตุ้น เชียร์ให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมสามารถช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วยสร้างความภูมิใจ ความมั่นใจ และความรู้สึกมีคุณค่าให้แก่เขา
ควรกำหนดกิจวัตรประจำวัน เพื่อคงความสามารถของผู้มีภาวะสมองเสื่อมไว้นานที่สุด เพื่อช่วยลดภาระคนดูแล โดยให้ทำกิจวัตรประจำวันเป็นเวลาเดิมทุกวัน แต่สามารถยืดหยุ่นได้บ้าง พร้อมทั้งทำตารางกิจวัตรประจำวันและสัปดาห์ เพื่อเตือนความจำผู้มีภาวะสมองเสื่อม
ข้อมูลอ้างอิง : CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม