โรคงูสวัด เป็นโรคที่มักเกิดกับผู้สูงอายุได้บ่อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่าคนทั่วไปที่อายุยังน้อย และยังส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา พบว่าผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมีอาการติดเชื้อรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคงูสวัดคืออะไร

โรคงูสวัด (Herpes Zoster, Shingles) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ทำให้มีอาการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดแสบร้อนและมีผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาท บริเวณที่พบได้บ่อยคือแนวบั้นเอวหรือแนวชายโครง บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้าหรือแขนขาก็ได้

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันลดลง ภาพจาก iStock
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันลดลง ภาพจาก iStock

...

กระทรวงสาธารณสุขของไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มตัวเลขผู้ป่วย “โรคงูสวัด” ในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่แม้ว่าจะมีร่างกายแข็งแรงดี ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญยังพบว่าเป็นโรคติดเชื้ออันดับต้นๆ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตใน “ผู้สูงอายุ” โดยพบมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป จึงทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากเป็นโรคงูสวัด เพราะมีอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง

นอกจากผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดได้มากกว่าช่วงวัยอื่นๆ เนื่องจากภูมิต้านทานของร่างกายที่ลดลง ขณะเดียวกันผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนก็เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน

ผู้สูงอายุจะมีการแพร่กระจายของโรคและความรุนแรงของโรคมากขึ้นตามอายุ โดยกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นงูสวัด จะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (Post-Herpetic Neuralgia) ซึ่งอาการจะเป็นยาวนานหลายเดือนหรืออาจเป็นปีได้ อาการปวดจะเป็นมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำให้เกิดความเครียด และในผู้ป่วยบางรายร้ายแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตเพราะอาการปวด

อาการโรคงูสวัด

  • มีอาการปวดตามตัว ก่อนมีผื่น 2-3 วัน
  • มักจะไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ
  • มีอาการทางผิวหนัง อาจจะคันผิวหนัง บางคนมีอาการปวดแสบปวดร้อน
  • เสียวที่ผิวหนัง สำหรับคนที่เป็นบริเวณใบหน้าจะมีอาการปวดศีรษะ เห็นแสงจ้าไม่ได้
  • เมื่อผ่านไปประมาณ 1-5 วัน จะมีผื่นแดงอยู่เป็นกลุ่ม ต่อมาเป็นตุ่มน้ำใส มักจะขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายตามเส้นประสาทที่เป็นโรค
  • ตุ่มน้ำใสจะคงอยู่ประมาณ 5 วัน ต่อมาผื่นจะตกสะเก็ด และหายไปใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้

การรักษาโรคงูสวัด

  • ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติอาจรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้ปวด เนื่องจากสามารถหายได้เอง
  • ในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก การได้รับประทานยาต้านไวรัส เช่น acyclovir ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้นและลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้
  • ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 10 นาที 3-4 ครั้ง/วัน จะช่วยทำให้แผลแห้งขึ้น
  • ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือรับประทานร่วมด้วย
  • ถ้ามีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
  • ตัดเล็บสั้น ไม่แกะเกา และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและกลายเป็นแผลเป็น
  • ถ้ามีอาการปวดหลังการติดเชื้อ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลแก้ปวด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
  • ไม่พ่นหรือทายา เช่น ยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรลงไปบริเวณตุ่มน้ำ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็นได้

การป้องกันโรคงูสวัด

โรคงูสวัด เป็นโรคที่สามารถติดต่อไปยังคนใกล้ชิดได้ ซึ่งควรมีการป้องกันดังนี้

ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพื่อลดความเสี่ยงและลดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต ภาพจาก iStock
ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพื่อลดความเสี่ยงและลดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต ภาพจาก iStock

...

  • การสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยงูสวัด อาจทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสได้ ดังนั้นควรแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอน ของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
  • ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจาย สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้นควรแยกผู้ป่วย ไม่ใกล้ชิดกับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรค รวมถึงเด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งผู้สูงอายุทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนทุกคน ถ้าไม่มีข้อห้าม รวมไปถึงคนที่เคยเป็นงูสวัดมาแล้วก็ยังควรจะได้รับวัคซีน เพราะวัคซีนจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำและลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอาการปวดตามแนวเส้นประสาทที่พบตามมาได้บ่อยๆ

ข้อมูลอ้างอิง : รพ.พญาไท, รพ.กรุงเทพ, รพ.เปาโล, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล