หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ภัยเงียบของวัยทำงานและผู้สูงอายุ มีอาการอย่างไร ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง

สาเหตุของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากอายุที่มากขึ้นทำให้หมอนรองกระดูกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังจะเริ่มเสื่อมตามวัย บางรายเนื้อเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกฉีกขาดจนทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนออกมาและอาจกดทับเส้นประสาท ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลังเด่นชัดนำมาก่อนแล้วตามด้วยอาการปวดหลังร้าวลงขา อาจมีอาการชา อ่อนแรง หรือขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย โดยลักษณะอาการมักจะสัมพันธ์กับกิจกรรมและการใช้งานของหลัง

นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า เนื้อของหมอนรองกระดูกสันหลังจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้หมอนรองกระดูกมีความยืดหยุ่นที่ลดลง จนไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้เหมือนเดิม ทำให้เกิดอาการปวดและมีอาการอื่นๆ ของโรคนี้ตามมา ภาวะการเสื่อมสภาพนี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วงอายุ 30-40 ปี จากนั้นอาการจะแย่ลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มักจะมีปัญหาหมอนรองกระดูกเสื่อม แต่ในขณะที่บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

เมื่ออายุมากขึ้นทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมตามวัย ส่งผลให้เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่ายกว่าวัยอื่น (ภาพจาก iStock)
เมื่ออายุมากขึ้นทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมตามวัย ส่งผลให้เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่ายกว่าวัยอื่น (ภาพจาก iStock)

...

ส่วนสาเหตุที่พบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ได้แก่ การใช้งานและกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น ยกของหนักผิดท่าบ่อยๆ การนั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน การขับรถนานๆ น้ำหนักตัวที่มากเกินมาตรฐาน การเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ เพราะคนที่สูบบุหรี่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่หมอนรองกระดูกสันหลังได้น้อยลง ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมและเคลื่อนได้เร็วขึ้น

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สำหรับอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะมีอาการปวดคอ หรือปวดหลังแบบเป็นๆ หายๆ แต่บางรายอาจมีอาการปวดเรื้อรัง หรือปวดแบบรุนแรงเมื่อเปลี่ยนท่าทาง โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. ปวดหลังเรื้อรัง
  2. ปวดร้าวลงขา
  3. กระดูกสันหลังติดแข็งและขยับตัวลำบาก
  4. ชา อ่อนแรง และเป็นเหน็บที่บริเวณ มือ แขน เท้า ขา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

ในกรณีที่มีการกดเบียดเส้นประสาทรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเดินลำบาก ไม่สมดุล เหมือนจะหกล้มได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันได หรือก้าวขาขึ้นรถ เป็นต้น

7 พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

นอกจากเรื่องของการเสื่อมตามวัยด้วยอายุที่มากขึ้นแล้ว พฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างที่เรามักจะทำเป็นประจำจนติดเป็นนิสัยก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยเช่นกัน

1. มีน้ำหนักตัวมากเกินไป

การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักที่มากจนเกินไป โดยเฉพาะภาวะอ้วนลงพุง จะส่งผลให้หลังต้องรับน้ำหนักที่มาก ทำให้หลังแอ่นและกระดูกสันหลังส่วนล่างต้องรับน้ำหนักตลอดเวลา หมอนรองกระดูกจึงมีโอกาสเสื่อมหรือแตก ปลิ้นได้ง่ายกว่าคนที่มีรูปร่างผอม

2. อุบัติเหตุ-การแบกของหนัก

อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อกระดูกนั้นมีอยู่บ้าง อย่างเช่น รถเบรกกะทันหัน เล่นกีฬาบิดแรงจนหมอนรองกระดูกฉีกทันที แต่แบบนี้มักเกิดขึ้นน้อย อุบัติเหตุจากการแบกของหนักที่ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขาและต้นขา กระดูกจึงบิดและเคลื่อนได้

3. การใช้งานผิดท่า

พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งหลังไม่พิงพนัก หลังงอ ก้มคอ ทำงานเป็นเวลานาน ใช้ร่างกายหนัก พักผ่อนน้อย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป หรือแม่บ้านที่ก้มๆ เงยๆ ยกของโดยไม่ระมัดระวัง บุคคลที่นั่งขับรถเป็นระยะทางไกลๆ เป็นประจำ ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคจึงควรจัดระเบียบท่าทางร่างกายให้เหมาะสม เช่น การยกของ การนั่งที่ถูกวิธี

การนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (ภาพจาก iStock)
การนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (ภาพจาก iStock)

...

4. การสูบบุหรี่จัด

เป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มากๆ มีโอกาสเกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูก หรือหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นค่อนข้างมาก จากการที่ควันสูบบุหรี่จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกหรือกระดูกสันหลังได้ไม่ดี ทำให้เสียคุณสมบัติการยืดหยุ่น การใช้งานไม่ค่อยดี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

5. ขาดการออกกำลังกาย

ทำให้กล้ามเนื้อลีบ ฝ่อ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองกระดูกได้มากขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกบริเวณสันหลัง และช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากออกกำลังกายหนักเกินไป ก็จะเป็นการสร้างภาระให้กับข้อกระดูกได้โดยจะเห็นได้ ซึ่งเรามักเห็นในนักกีฬาอาชีพที่มีปัญหาข้อกระดูกเสื่อมอย่างรวดเร็ว

6. แฟชั่นการแต่งกาย

ทั้งการสะพายกระเป๋าหนักๆ เพียงข้างเดียว กล้ามเนื้อมัดที่เกี่ยวข้อง ถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ เนื่องจากกล้ามเนื้อและกระดูกต้องรับน้ำหนักมากจนทำให้กระดูกคดงอได้ วิธีที่เหมาะสมคือ เลือกใช้กระเป๋าน้ำหนักเบา บรรจุของในกระเป๋าแต่พอดี และสลับด้านสะพายระหว่างข้างซ้ายและขวาให้เท่าๆ กันหรือสวมรองเท้าส้นสูง 1 นิ้วครึ่งในสุภาพสตรี การใส่ส้นสูงอาจช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้ดูสง่าขึ้นแต่ข้อเสียก็คือการใส่รองเท้าที่สูงเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังที่เกิดจากความผิดปกติของแนวกระดูกสันหลังได้

7. การนอนผิดท่า

โดยเฉพาะการนอนคว่ำเพื่ออ่านหนังสือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากจนผิดปกติ ทั้งยังก่อให้เกิดอาการปวดคอและปวดหลังอีกด้วย นอกจากนี้นอนขดตัวคุดคู้ การนอนหดแขนและขาจะทำให้กระดูกสันหลังบิดงอ ผิดรูป และเกิดอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อได้ ท่านอนที่ถูกต้องนั้น แนะนำให้นอนหงายและใช้หมอนหนุนศีรษะที่ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการนอนบนหมอนที่สูงเกินไป การนอนดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือที่คนทั่วไปมักติดนิสัยนอนเอนหลัง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนไถลตัวไปบนโซฟาหรือเตียงนอน ทำให้ต้องงอลำคออันอาจเป็นผลให้กระดูกคอสึก และเกิดอาการปวดหลัง เพราะกระดูกหลังแอ่น

สำหรับการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทโดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่รักษาด้วยการกินยา การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายในท่าที่ถูกต้อง การปรับพฤติกรรมในการนั่งทำงาน แต่ถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็กที่ช่วยลดความเจ็บและลดระยะเวลาการพักฟื้นของผู้ป่วยได้

...

การว่ายน้ำจะช่วยเสริมกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงขึ้น (ภาพจาก iStock)
การว่ายน้ำจะช่วยเสริมกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงขึ้น (ภาพจาก iStock)

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดคือควรป้องกันตนเองก่อนที่ป่วยด้วยการปรับพฤติกรรมเพื่อเสริมกล้ามเนื้อหลัง เพื่อป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อม เช่น การว่ายน้ำ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมของหมอนรองกระดูก เช่น งดยกของหนักในท่าที่ผิด เลี่ยงการนั่งในท่าเดิมนานๆ ควรลุกขึ้นทุกๆ 2 ชม. ห้ามนั่งยองๆ หรือนั่งกับพื้นนานๆ จะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกได้

ข้อมูลอ้างอิง :โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ, โรงพยาบาลพญาไท

ภาพ  : iStock