วิธีดูแลผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหลงลืมอย่างไรให้ยังคงความจำได้ดี พร้อมวิธีการดูแล และรักษาเบื้องต้นเพื่อให้อาการไม่กำเริบ
อาการหลงลืมในผู้สูงอายุ เป็นอาการหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นได้สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สาเหตุมาจากการเจริญเติบโตของวัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านของสภาพร่างกายภายนอก และภายในที่เริ่มถดถอยแล้ว ฟื้นตัวได้ช้า โดยบางครั้งอาจจะมีโรคเรื้อรังที่ต้องติดตาม และดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด
ผู้สูงอายุ คือ หนึ่งในวัยที่ต้องการความดูแลมากเป็นพิเศษ ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจ ความรัก และการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะด้วยวัยที่สูงขึ้นอาจมีโรคที่แอบแฝง และแทรกซ้อนมา จนเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้หลงลืมได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อ เป็นต้น
อาการหลงลืมในผู้สูงอายุเบื้องต้น
อาการหลงลืม เกิดจากความผิดความปกติทางสมอง ที่ทำให้เกิดปัญหาในด้านการตัดสินใจ และความจำ โดยจะส่งผลไปถึงการเขียน อ่าน พูด การขยับตัว และการวางแผนตัดสินใจ สามารถพบในผู้สูงอายุเป็นปกติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ หากปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะสมองเสื่อม และอาจเกิดผลกระทบร้ายแรงได้ในอนาคต
วิธีการดูแลอาการหลงลืม และรักษาเบื้องต้น
- ใช้ความเข้าใจ และประนีประนอมในการพูดคุยกับผู้สูงอายุภายในบ้าน ไม่ใช้อารมณ์ ให้ใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง บอกตัวเองเสมอว่าผู้ใหญ่ในช่วงอายุวัยนี้สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
- ตรวจสอบการทานยาประจำตัวของผู้สูงอายุภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นกิจวัตรประจำวัน ตามคำสั่งแพทย์
- หมั่นหากิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวบ่อยๆ เพื่อสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้แก่ท่าน และครอบครัว
- หมั่นกระตุ้นความจำ เช่น การตั้งคำถามที่จำเป็นให้ท่านตอบเพื่อให้เกิดการจดจำ และหมั่นเล่าสิ่งที่ผ่านมา และเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้สูงวัยในบ้านเคยเล่าให้ฟัง
- จัดตารางประจำวัน และวางแผนของผู้สูงอายุภายในบ้านให้ชัดเจน
- ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมแก่ผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้น เช่น ยกสิ่งกีดขวางออกจากทางเดินเพื่อให้เดินง่ายขึ้น, ราวจับในห้องน้ำกันหกล้ม หรือขยับเตาแก๊ส และสิ่งของติดไฟออกจากห้องครัว
- ทานอาหารเสริมที่บำรุงความจำ และช่วยเสริมวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินบี และวิตามินซี โดยอาหารเสริมเหล่านี้ต้องอยู่ในการดูแลจากแพทย์
- ช่วยให้ผู้สูงอายุพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างบรรยากาศให้น่าพักผ่อน ทานอาหารให้อิ่ม ออกกำลังกายให้เพียงพอต่อวัน หรืออาหารเสริมที่ช่วยในการนอนหลับ โดยต้องอยู่ในการดูแล และแนะนำจากแพทย์
- หมั่นตรวจสอบ และสังเกตสุขภาพร่างกาย สุขภาพทางใจของผู้สูงอายุเป็นประจำ
- พาไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ
- หาป้ายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ที่สามารถพกพาได้เก็บไว้ในอุปกรณ์จำเป็นของผู้สูงอายุภายในบ้าน เพื่อป้องกันการพลัดหลง
...
ข้อมูล : โรงพยาบาลนครธน