ผู้สูงอายุ เป็นช่วงวัยที่พบกับการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเจ็บป่วยเรื้อรังได้มากกว่าคนวัยอื่นๆ การคัดกรองผู้สูงอายุ 9 ด้าน จึงออกแบบมาเพื่อช่วยวางแผนการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
การคัดกรองผู้สูงอายุ 9 ด้าน คืออะไร
คู่มือคัดกรองผู้สูงอายุ 9 ด้าน จัดทำขึ้นภายใต้แผนยุทธศาสตร์สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อการดูแลระยะยาว ที่รับผิดชอบโดย 6 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมการแพทย์
คู่มือนี้จัดทำขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอัตราการพึ่งพิงและมีการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังและโรคประจำตัวสูงขึ้น รวมถึงภาวะการเจ็บป่วยต่างๆ ที่มีความซับซ้อน ไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการคัดกรองผู้สูงอายุ 9 ด้าน จะช่วยประเมินสุขภาพและค้นหาปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุเบื้องต้นได้ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การดูแลรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพ ที่เหมาะสมกับปัญหาของผู้สูงอายุได้อย่างตรงประเด็น
คัดกรองผู้สูงอายุ 9 ด้าน มีอะไรบ้าง
ในปี พ.ศ. 2566 กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็น ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตระหนักเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จึงได้พัฒนาระบบการคัดกรองผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านแอปพลิเคชัน “Smart อสม.” โดยมี อสม. กว่า 1.05 ล้านคน ออกให้บริการภายใต้นโยบาย 3 หมอ ในฐานะหมอคนที่ 1 ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกค้นหา คัดกรองสุขภาพ 9 ด้าน ให้กับผู้สูงอายุทั่วประเทศ อย่างน้อย 10 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย
...
- ด้านความคิดความจำ
- ด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย
- ด้านการขาดสารอาหาร
- ด้านการมองเห็น
- ด้านการได้ยิน
- ด้านภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
- ด้านการกลั้นปัสสาวะ
- ด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
- ด้านสุขภาพช่องปาก
ทั้งนี้ การคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุ 9 ด้าน เป็นขั้นตอนแรกของการเก็บข้อมูลสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การบ่งชี้ภาวะสุขภาพ และทราบความต้องการของผู้สูงอายุ เป็นประโยชน์ในการวางแผนส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)