เมื่อเข้าถึงวัยเกษียณแล้ว แต่รู้ตัวว่ายังมีไฟและไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ มีงานแบบไหนที่คนวัยเกษียณสามารถทำได้บ้าง
ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปี ก็คงเข้าสู่ช่วงเวลาเกษียณอายุการทำงาน ซึ่งบ้านเรายังกำหนดการเกษียณอายุการทำงานไว้อายุ 60 ปี แม้บางอาชีพได้มีการขยายอายุเกษียณบ้างแล้ว เช่น ผู้พิพากษา แพทย์ สัตวแพทย์ และงานช่างศิลปกรรม ธุรกิจเอกชนอย่างธุรกิจบริการและค้าปลีก ก็ได้มีการขยายอายุเกษียณสำหรับตำแหน่งที่ขาดแคลนบ้างแล้วเช่นกัน ขณะที่หลายประเทศได้มีการขยายอายุการเกษียณงานมากขึ้นแล้ว เช่น สิงคโปร์ เพิ่มอายุเกษียณ จาก 65 ปี เป็น 67 ปี ญี่ปุ่นขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 65 ปี เป็นต้น
แต่สำหรับผู้สูงอายุคนไหน ที่เกษียณอายุการทำงานแล้ว แต่ยังมีร่างกายแข็งแรง และไม่ต้องการออกมาเป็นคนว่างงาน นั่งๆ นอนๆ พักผ่อนอยู่แต่บ้าน คงต้องออกมาหางานทำ หรือทำงานอิสระตามแต่ที่ต้องการ ซึ่งเดี๋ยวนี้ตลาดแรงงานสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุก็เปิดกว้างมากขึ้น หลายแห่งมีการรับผู้สูงอายุให้เข้าทำงานในลักษณะพนักงานพาร์ทไทม์ แต่ก็มีผู้สูงอายุบางคน เลือกจะใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของตัวเอง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพเสริม ในช่วงวัยเกษียณ
วันนี้ เราจึงจะมาแชร์ไอเดียให้กับผู้สูงอายุที่ยังอยากจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ คลายเหงา แถมยังสร้างรายได้ให้อีกด้วย มาดูกันว่าคนสูงวัยปัจจุบันทำงานอะไรได้บ้าง
อาชีพงานเขียน-นักเล่าเรื่อง
สำหรับผู้สูงวัยที่มีประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน หรือเป็นคนชอบขีดชอบเขียน การก้าวสู่อาชีพนักเขียนก็สามารถสร้างรายได้ที่น่าสนใจ ซึ่งงานเขียนก็มีหลากหลายแนว ตามแต่ที่จะถนัด อาทิ แต่งนวนิยาย เขียนบทความ หรือฮาวทู คู่มือต่างๆ ซึ่งจะขายเป็นเล่ม หรือขายออนไลน์ ก็สามารถทำได้ทั้งนัน หรือหากท่านใดเก่งภาษาต่างประเทศ ยังทำงานด้านการแปลได้อีกด้วย
...
อาชีพการเป็นโค้ช-อาจารย์พิเศษ
ผู้สูงอายุ มักจะมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในงานใดงานหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ สามารถนำมาสร้างเป็นหลักสูตร แล้วถ่ายทอดให้กับคนที่สนใจได้ไม่ยาก อาจจะเป็นอาจารย์พิเศษ นักฝึกอบรมตามสถาบัน หรือหน่วยงานต่างๆ ก็ทำได้ หรือจะปั้นตัวเองเป็นโค้ชสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ตัวเองมีความชำนาญก็ไม่ผิดกติกา
อาชีพการเป็นพนักงานร้านค้าปลีก
ตอนนี้ร้านค้า หรือห้างค้าปลีกหลายแห่ง ก็เปิดโอกาสให้กับผู้สูงอายุ ได้ก้าวเข้าไปเป็นพนักงาน เพราะมองเห็นว่า ผู้สูงอายุยังมีความสามารถในการทำงานไม่ต่างจากกลุ่มคนหนุ่มสาว และบางตำแหน่งงานก็ยังมีอัตราการว่างงานอยู่ อาทิ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่รับผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 50 - 60 ปี จบการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ร้านหนังสือ, บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรมจำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจากกรีนเนท จำกัด, บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์, จำกัด บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด และบริษัท เมซโซ่ จำกัด ที่จ้างงานผู้สูงอายุเพื่อทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วย
อาชีพในโลกออนไลน์
ต้องบอกว่ายุคดิจิทัล ตลาดออนไลน์เป็นตลาดที่มีมูลค่าตลาดมหาศาล และเปิดโอกาสให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ได้ก้าวเข้ามาหารายได้ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ อย่างง่ายๆ ก็รีวิวสินค้า ทำงานตัวแทน หรือขายของออนไลน์ ซึ่งบรรดางานเหล่านี้ สร้างความร่ำรวยให้กับผู้คนมามากมาย ซึ่งหากผู้สูงอายุคนไหนที่ใจยังมีไฟ ชอบลองอะไรใหม่ๆ ก็ต้องก้าวเข้ามาทำงานในสื่อออนไลน์นี้บ้างแล้ว
อาชีพงานบริการ
สำหรับผู้สูงอายุบางคน อาจจะชอบดูแลหรือให้บริการคนอื่น ก็ลองมองหาอาชีพที่เกี่ยงข้องกับงานบริการ ซึ่งปัจจุบันก็มีหลากหลายอาชีพที่เปิดกว้าง อาทิ การขับรถส่งสินค้า ขับรถพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล หรือการเป็นพี่เลี้ยงเด็ก นอกจากนี้ ยังมีงานบริการอีกมากมายที่ผู้สูงอายุทำได้สบายๆ
...
อาชีพด้านงานฝีมือ
ผู้สูงอายุบางท่าน ที่มีฝีมือในการทำงานประดิษฐ์ งานฝีมือ หรืองานช่างต่างๆ ก็สามารถนำเอาความสามารถเหล่านั้นมาประกอบอาชีพหลังเกษียณได้ ทั้งการสร้างผลงานออกขาย หรือจะทำเป็นคอร์สสอนงานเหล่านั้นก็ได้ ตามแต่ถนัด อาทิ การขายภาพถ่าย การทำอาหาร การทำงานประดิษฐ์ เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้เชื่อว่าเริ่มต้นจากงานอดิเรกที่ผู้สูงอายุรักมาก่อน และทำมานานจนมีความชำนาญ ซึ่งฝีมือเหล่านี้แหละสามารถทำเป็นอาชีพและสร้างรายได้ได้อย่างสบายๆ
อาชีพด้านการเกษตร
ปกติผู้สูงอายุ มักจะชื่นชอบกับการปลูกดอกไม้ ต้นไม้ ซึ่งอาจจะปลูกเป็นงานอดิเรกหรือประดับบ้าน ซึ่งหากอยากจะเข้าสู่อาชีพด้านการเกษตร แบบเพาะต้นไม้ขาย ขายผลผลิตจากพืช ผัก ผลไม้ หรือขายอุปกรณ์ด้านการเกษตร ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอนนี้ตลาดเปิดกว้าง ดูอย่างช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ต้นไม้ที่ขายผ่านออนไลน์ขายดีกันมากมาย แม้ปัจจุบันตลาดอาจจะไม่บูมเหมือนก่อน แต่ตลาดก็ยังเปิดกว้าง และมีการซื้อขายต้นไม้กันอย่างต่อเนื่อง บางคนก็ทำจนเป็นอาชีพหลักเลยก็มี
...
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นไกด์ไอเดีย สำหรับผู้สูงอายุที่ยังมีพละกำลัง มีแรงใจ และมีไฟที่ยังอยากจะทำงาน ไม่อยากอยู่เฉยๆ หรือท่องเที่ยวอย่างเดียว ก็ลองมองหาอาชีพที่ตนเองชอบ และถนัดทำดู เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เบื่อกับการว่างงานแล้ว ยังมีรายได้กลับเข้ามาในกระเป๋าเราอีกด้วย
ที่มา : กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย