วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของวงการเพลงลูกทุ่งไทย เพราะเป็นวันครบรอบการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของราชินีลูกทุ่ง ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ นักร้องลูกทุ่งชั้นครูที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินลูกทุ่งยุคใหม่หลายคน
ไทยรัฐออนไลน์ ได้ยินมาว่าในช่วงนี้ของทุกๆ ปีจะมีการจัดงานรำลึก ‘แม่ผึ้ง’ ของลูกหลานวงการลูกทุ่ง รวมถึงแฟนคลับทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก ต่างมาร่วมงานกันหนาแน่นที่วัดทับกระดาน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี รวมถึงบรรดานักเสี่ยงโชค ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาเชื่อว่าวันนี้มักจะได้เลขเด็ดกลับไป
ใครอยากรำลึก ใครอยากแสวงโชค ก็ว่ากันไปตามสมควร แต่ไหนๆ ก็เป็นวันครบรอบเสียชีวิตของราชินีลูกทุ่ง เราอยากชวนไปย้อนรอยชีวิตแม่ผึ้ง พร้อมส่องดูเลขพิศวงที่เข้ามาผูกพันกับชีวิตของเธอคนนี้กันดีกว่า...
1. เลข 4
วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เป็นวันเกิดของราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เธอมีชื่อเล่น ผึ้ง ชื่อจริง รำพึง จิตรหาญ นักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของฉายา ราชินีลูกทุ่ง ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงออดอ้อน หวาน จำเนื้อร้องได้แม่นทั้งที่ไม่รู้หนังสือ และเป็นแม่แบบให้กับนักร้องรุ่นหลัง

...
2. เลข 2518
ในปี พ.ศ. 2518 ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นำวงดนตรีมาแสดงที่วัดทับกระดาน และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในวัย 15 ปี ได้ร่วมร้องเพลงบนเวทีจนไวพจน์เห็นความสามารถ เกิดความเมตตา จึงรับเป็นบุตรบุญธรรมและพาไปอยู่กรุงเทพฯ
สาวน้อยเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นหางเครื่องและนักร้องพลางๆ ก่อนที่ไวพจน์ จะแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง “แก้วรอพี่” เพลงที่แต่งขึ้นมาเพื่อร้องแก้กับเพลง "แก้วจ๋า" โดยใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ

3. เลข 2519
ในปี พ.ศ. 2519 ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง มนต์ เมืองเหนือ รับพุ่มพวงเป็นลูกศิษย์ และเปลี่ยนชื่อจากน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณเป็น "พุ่มพวง ดวงจันทร์" และได้บันทึกเสียงเพลงใหม่ จากการแต่งของก้อง กาจกำแหง ร้องแก้ขวัญชัย เพลงนั้นคือ "รักไม่อันตรายและรำพึง" และตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง โดยการสนับสนุนของคารม คมคาย นักจัดรายการวิทยุ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาได้มาสังกัดบริษัทเสกสรรเทป
แผ่นเสียงผลงานของพุ่มพวงเริ่มประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา หลังจากได้รับการสนับสนุนจาก ประจวบ จำปาทอง และ ปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ให้ตั้งวงร่วมกับเสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง จากจุดนี้ก็ได้รับความสำเร็จขึ้น


4. เลข 2521
ถัดมาช่วงปี พ.ศ 2521 พุ่มพวงได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากเพลง “อกสาวเหนือสะอื้น” นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้ร้องเพลง "ส้มตำ" พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
5. เลข 13
วันที่ 13 มี.ค. 2535 มีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า เธอมีปัญหากับสามีและป่วยเป็นโรคไตขั้นรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 20 มี.ค. เธอเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตากสิน จ.จันทบุรี และย้ายไปที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจพบว่าเธอป่วยด้วยโรคเอสแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาการขั้นรุนแรง ลุกลามถึงไต ต่อมาในวันที่ 13 มิ.ย. 2535 เธอก็จากไปจากสงบ ต่อมาได้ถือเอาวันที่ 13 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันครบรอบการเสียชีวิต
...

6. เลข 20.55 น.
เป็นตัวเลขเวลาที่แสนหดหู่ใจของแฟนเพลง ราชินีลูกทุ่งเสียชีวิตอย่างสงบ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ในเวลา 20.55 น. นั่นเอง ซึ่งก่อนหน้าวันเดียวกันเธอเกิดอาการช็อกและหมดสติ ญาตินำส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช กระทั่งถึงแก่กรรม
7. เลข 31
สิริรวมอายุของแม่ผึ้ง คือ 31 ปี นับจากวันเกิดจนถึงวันเสียชีวิต (4 สิงหาคม พ.ศ. 2504-13 มิถุนายน พ.ศ. 2535)

...
8. เลข 25 และเลข 2535
วันที่ 25 มิ.ย. 2535 เป็นวันที่มีพิธีพระราชทานเพลิงศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ จัดที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ยังมีการสร้างหุ่นพุ่มพวง ตั้งอยู่ในศาลาริมสระน้ำ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีการจัดงานรำลึกถึงพุ่มพวงทุกปี ช่วงวันที่ 13-15 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเธอ

9. เลข 25
อีกหนึ่งความสำคัญของเลข 25 คือ ในปี 2560 นี้ ถือเป็นการรำลึกถึงแม่ผึ้งครบรอบ 25 ปี ของการจากไป โดยระหว่างวันที่ 11-17 มิ.ย. 60 ที่วัดทับกระดาน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีแฟนเพลงมาร่วมรำลึกถึงนักร้องลูกทุ่งในดวงใจของพวกเขาเป็นจำนวนมาก

...
10. เลข 7
หลังจากที่ราชินีลูกทุ่งได้เสียชีวิตลง แฟนเพลงรวมถึงศิลปินอื่นๆ ที่นับถือแม่ผึ้ง ได้สร้างหุ่นขี้ผึ้งเป็นตัวแทนของเธอ ปัจจุบันมีหุ่นรูปเหมือนของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ อยู่ 7 หุ่น โดยตั้งอยู่ที่วัดทับกระดาน จำนวน 6 หุ่น ได้แก่
- หุ่นที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณสระกลางน้ำ แต่งกายชุดสีดำ
- หุ่นที่ 2 อยู่ในตู้กระจก ยุ้ย ญาติเยอะ เป็นผู้สร้างไว้บูชาครูเพลงพุ่มพวง
- หุ่นที่ 3 สร้างโดยนายณรงค์ รอดเจริญ อดีตบรรณาธิการ เป็นหุ่นแก้บน ทำด้วยขี้ผึ้งแข็ง
- หุ่นที่ 4 เป็นสีชมพู สร้างขึ้นจากแฟนเพลง ที่เป็นหุ่นปลดนี้ รุ่นนางพญาเสือดาว
- หุ่นที่ 5 อยู่ในชุดเสวนาธรรม สร้างโดยญาติและกรรมการวัด
- หุ่นที่ 6 เป็นหุ่นสีทอง สร้างขึ้นโดย ใหม่ เจริญปุระ สร้างขึ้นเพื่อบูชาครูเพลง หุ่นพุ่มพวงที่วัดทับกระดานนั้น ยังมีชื่อเสียงเรื่องมีผู้นิยมมาขอหวยจำนวนมาก
- หุ่นที่ 7 เป็นหุ่นชุดเสือดาว สร้างโดยพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ เพื่อจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์สาขากรุงเทพ ชั้น 6 และ 7 สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ โดยพิพิธภัณฑ์มีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ธันวาคม 2553 หุ่นเหมือนพุ่มพวงตัวนี้เป็นตัวแรกที่ผู้สร้างส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ
