คนเราทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ เรารู้วันเกิดของตัวเอง แต่ไม่มีใครสามารถรู้วันตายได้ และมันคงจะดีหากเราได้มีการวางแผนเกี่ยวกับสุขภาพของเราในช่วงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งทุกคนสามารถวางแผนได้ตั้งแต่วันนี้
“การวางแผนล่วงหน้าในอนาคต (Advance Planning)” เป็นการสื่อสารที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้บุคคลใช้สิทธิ์ในการกำหนดการดูแลรักษาทางการแพทย์ไว้ล่วงหน้าในอนาคต ในกรณีที่ไม่สามารถตัดสินใจได้เอง ทุกคนมีสิทธิ์จะแสดงเจตนาตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ซึ่งระบุไว้ว่า
“บุคคล มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

แพทยสมาคมโลก (The World Medical Association) และหลายๆ ประเทศต่างให้การยอมรับ “สิทธิปฏิเสธการรักษา” ว่าเป็นสิทธิผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง สอดคล้องกับจริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งมีกฎหมายในหลายๆ ประเทศรับรองในเรื่องนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฯลฯ
...
สำหรับในประเทศไทย การทำ “หนังสือแสดงเจตนา” ก็เหมือนการทำ “พินัยกรรมชีวิต” เป็นเจตนาบริสุทธิ์ของผู้ป่วยที่จะขอตายอย่างสงบและปราศจากความทุกข์ทรมาน (ดาวน์โหลด)
ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์อายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาได้ กล่าวคือ เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ผู้สูงอายุ หรือเป็นผู้ป่วยที่ตัดสินใจด้วยตนเองได้
รูปแบบของหนังสือแสดงเจตนา สามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ
1. ผู้ป่วยสามารถเขียนหรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนาด้วยตนเอง
2. แสดงเจตนาด้วยวาจาต่อแพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษา ญาติหรือผู้ใกล้ชิดในกรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่รู้หนังสือ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้เอง หรือหากต้องการให้ผู้อื่นช่วยเขียนแทนหรือพิมพ์ข้อความก็สามารถทำได้ และควรมีชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์หนังสือแสดงเจตนาหรือพยานกำกับไว้ด้วย
เมื่อมีการทำหนังสือแสดงเจตนาไว้แล้ว ผู้ป่วยควรเก็บรักษาหนังสือนี้ไว้เอง รวมถึงมอบสำเนาหนังสือดังกล่าวที่รับรองความถูกต้องแล้วให้แก่แพทย์เจ้าของไข้ คนในครอบครัว หรือญาติใกล้ชิด พยาน และบุคคลใกล้ชิดที่ไว้วางใจ
เมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ผู้ที่เก็บหนังสือหรือสำเนาหนังสือไว้ จะต้องมอบเอกสารดังกล่าวให้แก่แพทย์ พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วย

ประโยชน์ของการทำหนังสือแสดงเจตนา
1. ผู้ป่วยสามารถแจ้งความประสงค์ของตนให้แพทย์ ญาติ คนใกล้ชิดทราบ และช่วยลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และหมู่ญาติในการวางแผนการรักษาผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถแสดงเจตนาได้ด้วยตนเอง
2. ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ต้องรับความทุกข์ทรมานจากการใช้เครื่องกู้ชีพต่างๆ เช่น การเจาะคอ การใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจ หรือการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยยืดการตายออกไป ซึ่งไม่มีประโยชน์หรือไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
3. ทำให้ผู้ป่วย ญาติ และคนในครอบครัวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการรักษาที่ไม่จำเป็น ผู้ป่วยหรือญาติบางรายต้องนำทรัพย์สินที่มีค่ามาเป็นค่ารักษาพยาบาลจนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวกันเลยทีเดียว
4. ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสสื่อสาร ร่ำลาคนในครอบครัว ญาติมิตรได้ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะ และได้รับการเยียวยาช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ใกล้ตาย
แหล่งข้อมูล
พว.ศิริพร เสมสาร ในโครงการอบรมประชาชนเรื่อง “การวางแผนดูแลล่วงหน้าในอนาคต” ณ อาคารศูนย์อุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ชั้น 3 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ. 2558. พิมพ์ครั้งที่ 1. ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต (Living Will). กรุงเทพฯ : มปพ.