ผลสำรวจจากไทยรัฐโพล ที่สำรวจถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย ตรวจเช็กสภาพการเงินของคนไทยจากผู้อ่านไทยรัฐ ประเด็นเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินของคนไทยในหลากหลายแง่มุม เช่น ค่าใช้จ่ายต่อเดือน หนี้สิน และการอาชีพที่สอดคล้องกันอย่างน่าสนใจในหลากหลาย
หากกำลังรู้สึกว่า "เงินเดือนไม่พอใช้" หรือ "อยากมีรายได้เพิ่มแต่ไม่มีช่องทาง" สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่คำถามที่คุณคิดอยู่เพียงคนเดียว เพราะผลสำรวจล่าสุดจากไทยรัฐโพล เผยภาพสะท้อนชีวิตจริงของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และการขาดโอกาสในการสร้างรายได้เสริมที่น่าตกใจ
ไทยรัฐโพลได้เปิดสำรวจความคิดเห็นผู้อ่านระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 7 มิถุนายน 2568 ในหัวข้อ "ตรวจเช็กสภาพเงินในกระเป๋าของคนไทยวันนี้" ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 6,994 ราย โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นเผยให้เห็นหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และการมีอาชีพเสริม
...
เงินเดือนไม่พอใช้ สถานการณ์ที่คนไทยกว่าครึ่งกำลังเผชิญ
เมื่อถามถึงความเพียงพอของรายได้ต่อเดือน พบว่าเสียงส่วนใหญ่คนไทยมีรายได้ที่ได้รับ ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะผลลัพธ์จากผู้อ่านไทยรัฐให้คำตอบว่า “รายได้ไม่พอใช้ต่อเดือน” ถึง 55.39% ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์มากกว่าครึ่งของคำตอบที่ว่า บางเดือนพอ บางเดือนก็ไม่พอ อยู่ที่ 25.11% และพอใช้ที่ 19.50%
ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าคนไทยกว่าครึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลในแต่ละเดือน สอดคล้องกับโครงสร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้คำตอบถึงค่าเงินเดือนเฉลี่ย โดยคำตอบที่ได้มากที่สุด คือ 41.14% มีเงินเดือนอยู่ในกลุ่ม 15,000 บาท หรือต่ำกว่า แสดงให้เห็นถึงช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างรายได้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
- อันดับที่ 1: เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 คิดเป็น 41.14%
- อันดับที่ 2: เงินเดือน 15,001 - 30,000 คิดเป็น 30.99%
- อันดับที่ 3: เงินเดือน 30,001 - 60,000 คิดเป็น 16.80%
- อันดับที่ 4: เงินเดือนมากกว่า 100,001 คิดเป็น 6.22%
- อันดับที่ 5: เงินเดือน 60,001 - 100,000 คิดเป็น 4.85%
ส่วนคำถามเกี่ยวกับ “คุณมีอาชีพที่สองหรือไม่” พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ไร้อาชีพที่สอง แม้ว่ารายได้หลักจะไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือคนไทยส่วนใหญ่กลับยังไม่มีอาชีพเสริมหรืออาชีพที่สอง โดยผลสำรวจเผยว่า 77.38% ให้คำตอบว่า "ไม่ได้ประกอบอาชีพเสริม หรืออาชีพที่สอง"
มีเพียง 22.62% เท่านั้นที่มีอาชีพเสริม นี่คือจุดที่น่าคิดในยุคที่ค่าครองชีพสูงและเศรษฐกิจผันผวน การมีเพียงรายได้ทางเดียวนั้นมีความเสี่ยงสูง การขาดอาชีพเสริมอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกว่า "เงินไม่พอใช้" และเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมทักษะและโอกาสในการสร้างรายได้ที่หลากหลาย
แม้มีคนไร้หนี้มากสุด แต่หนี้จิปาถะน่าห่วง
ในแง่ของคำถามเกี่ยวกับหนี้สิน ผลสำรวจเผยว่า 24.98% ตอบว่า "ไม่มีหนี้" ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด รองลงมาคือมีหนี้ต่ำกว่า 50,000 บาท (18.99%) และหนี้ 100,001 - 500,000 บาท (17.91%) ตามมาด้วยหนี้มากกว่า 1,000,000 (17.29%), หนี้ 50,001 - 100,000 (12.30%) และหนี้ 500,001 - 1,000,000 (8.54%) ตามลำดับ
สิ่งที่น่าสนใจคือ หนี้ที่คนไทยมีมากที่สุด กลับไม่ใช่หนี้จากบ้าน รถ หรือบัตรเครดิต แต่เป็น "หนี้จากสิ่งอื่นๆ" ถึง 41.28% ซึ่งสูงกว่าหนี้บัตรเครดิต (19.57%) เงินกู้ (17.52%) บ้าน (11.89%) และรถยนต์ (9.74%)
หนี้จากสิ่งอื่นๆ อาจสะท้อนถึงหนี้ในชีวิตประจำวัน หนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช่บัตรเครดิต หรือแม้แต่หนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้คนไทยจำนวนมากติดกับดักหนี้สินระยะยาวและขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง
ผลสำรวจจากไทยรัฐโพลครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของคนไทยในปัจจุบัน ทั้งจากรายได้ที่ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่าย การขาดอาชีพเสริมที่เป็นแหล่งรายได้ที่สอง และรูปแบบของหนี้สินที่ซับซ้อนมากขึ้น