เผยเคล็ดลับในการสอนบุตรหลานระงับความอคติ ใช้ความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง เพื่อการเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข 

แน่นอนว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นถิ่นที่อยู่ วัฒนธรรมการใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อความศรัทธา หรือภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความเป็นคนไทยของเราแตกต่างกัน ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและสมควรได้รับการให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในการพัฒนาสังคม

ดังนั้นการส่งเสริมการเติบโตของเด็กและเยาวชนให้สามารถเรียนรู้ เข้าใจความแตกต่าง ไม่แบ่งแยก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน เพราะทั้งหมดนอกจากจะช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้ได้เติบโตไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขแล้ว การอยู่ร่วมกันในสังคมหมู่มากเป็นอีกสิ่งสำคัญที่สังคมไทยนั้นจำเป็นต้องพัฒนาร่วมกัน เพื่อไปสู่สังคมแห่งความสุขอย่างแท้จริง 

ไทยรัฐออนไลน์ได้นำข้อมูลการแนะแนวทางการดูแลบุตรหลานจากกรมสุขภาพจิต ที่ให้คำแนะนำแก่เด็ก เยาวชน และคนครอบครัวเกี่ยวกับความเท่าเทียมและการยอมรับความแตกต่าง เพื่อให้พวกเขาเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุขด้วยแนวทางดังต่อไปนี้ 

  • ส่งเสริมการสังเกตและทำความเข้าใจความเหมือนและความแตกต่าง 

ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างเป็นธรรมชาติของสังคม และแม้ว่าแต่ละคนจะมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว แต่ทุกคนก็มีความเหมือนกัน และไม่มีอัตลักษณ์ใดด้อยกว่ากัน ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน 

  • เปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถามเกี่ยวกับความแตกต่าง 

สนับสนุนให้เด็กถามคำถามเกี่ยวกับความแตกต่าง เช่น สีผิว เพศ รูปร่าง ภาษา ศาสนา และวิถีชีวิตของผู้อื่น และผู้ปกครองสามารถให้คำตอบหรือร่วมกันค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่หลากหลายด้วยใจที่เป็นกลางและปราศจากอคติ 

...

  • เรียนรู้ร่วมกันผ่านตัวอย่างเหตุการณ์ในโซเชียลมีเดีย 

ใช้ตัวอย่างการเหยียดและการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหลักของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อพูดคุยกันในครอบครัว เช่น สาเหตุของการเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเรา และแนวทางการป้องกันตนเอง 

  • ส่งเสริมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

สนับสนุนให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้คนจากต่างพื้นที่ หรือกิจกรรมที่มีผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมเข้าร่วม เพื่อเปิดโลกทัศน์และทำความเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น การพูดคุยด้วยสำเนียงภาษาที่แตกต่างกัน การรับประทานอาหารที่หลากหลาย หรือการแบ่งปันขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการกลั่นแกล้งและการเหยียดที่จัดขึ้นโดยชมรมหรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้ 

  • ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี 

ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรหลีกเลี่ยงการเหยียดความแตกต่าง ไม่ใช้คำที่บ่งบอกลักษณะภายนอกมาแทนชื่อ ไม่ชื่นชมเด็กเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ไม่เปรียบเทียบเด็กกับผู้อื่น แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และปฏิบัติต่อเด็กอย่างเท่าเทียม ให้เกียรติ และเคารพสิทธิของเด็กและเยาวชนในครอบครัว

ข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภาพ : istock