เมนูเครื่องดื่มสุขภาพสุดฮอตในเวลานี้อย่าง มัทฉะ ไม่ได้มาแรงแค่ในไทย แต่เป็นกระแสนิยมทั่วโลกจนส่งผลให้มัทฉะเริ่มขาดตลาดมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2024 ที่ผ่านมา
สาเหตุที่ทำให้มัทฉะเป็นที่ต้องการไปทั่วโลกมาจากกระแสความนิยมในโซเชียลมีเดียที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ผู้รักสุขภาพมีส่วนผลักดันในการบริโภคมัทฉะในรูปแบบต่างๆ จนทำให้เหล่าผู้ติดตามที่ส่วนใหญ่เป็น Gen Y และ Gen Z ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้สร้างเทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวมในการเลือกรับประทานอาหาร และต้องการประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งมัทฉะตอบโจทย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้ มัทฉะจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปรากฏอยู่ในร้านกาแฟและร้านอาหารทั่วโลก
สัญญาณเกี่ยวกับ "การขาดแคลนมัทฉะ" เริ่มขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2024 เมื่อบริษัทชาที่มีชื่อเสียงในเกียวโตอย่างอิปโปโดะและมารุคิว โคยามะเอ็น ประกาศจำกัดการซื้อผงชาละเอียดเป็นครั้งแรก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคในท้องถิ่นพบว่าร้านค้าหลายแห่งขายสินค้าบางรายการของบริษัทเหล่านี้และบริษัทอื่นๆ จำหน่ายหมดเกลี้ยง

...
ผลิตภัณฑ์ที่หายากหรือขายหมดส่วนใหญ่เป็นมัทฉะเฟิร์สฟลัช (ผงชาที่ทำจากใบชาเก็บเกี่ยวครั้งแรกของ Camellia sinensis ซึ่งเป็นสายพันธุ์พืชที่ใช้ทำมัทฉะ) ซึ่งในอดีตใช้เฉพาะในพิธีชงชา หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า “มัทฉะเกรดพิธีการ” แต่ปัจจุบันผู้บริโภคต่างชาตินิยมนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ความพิเศษของมัทฉะชนิดนี้คือเก็บเกี่ยวเพียงปีละครั้ง จึงมีจำนวนจำกัด รวมทั้งความต้องการสำหรับมัทฉะประเภทอื่นๆ ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เบื้องหลังกระแสความนิยม
แม้ว่าการบริโภคชาเขียวและมัทฉะในญี่ปุ่นจะลดลงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ส่วนอื่นๆ ของโลกกำลังดื่มมัทฉะมากกว่าที่เคย ตามข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ญี่ปุ่นผลิตมัทฉะ 4,176 ตันในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 1,471 ตันในปี 2010 และในช่วงห้าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การผลิตมัทฉะมากกว่าครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่นถูกส่งออก
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในอุตสาหกรรมเห็นพ้องกันว่าความสนใจที่เพิ่มขึ้นในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มัทฉะได้รับความนิยมสูงขึ้น ชาชนิดนี้ขึ้นชื่อเรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อีกทั้งมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ และยังค่อยๆ ปล่อยคาเฟอีนออกมา ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ไม่ทำให้ใจสั่น และไม่ทำให้ร่างกายเสพติดสารคาเฟอีนเหมือนการดื่มกาแฟอีกด้วย

"เราได้ทำการสำรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนญี่ปุ่นที่ห้างสรรพสินค้าของเรา และพบว่าพวกเขาให้ความสนใจในประโยชน์ต่อสุขภาพของมัทฉะ" ฟูมิ อุเอกิ หัวหน้ากลุ่มแบรนด์ใบชา ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของอิโตเอ็น บริษัทชาที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น กล่าว
"ดูเหมือนว่าผู้คนดื่มมัทฉะไม่เพียงเพราะรสชาติที่ดี แต่ยังเพราะพวกเขาคาดหวังว่ามันจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เราเชื่อว่าหากเราสามารถส่งเสริมประโยชน์ต่อสุขภาพของมัทฉะไปทั่วโลกได้อย่างกว้างขวาง เราก็สามารถคาดหวังที่จะเห็นความต้องการมัทฉะทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอีก"
อีกปัจจัยหนึ่งคือกระแสความนิยมบนโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับมัทฉะ ซึ่งได้เปิดตลาดใหม่ในพื้นที่ที่มัทฉะแทบไม่เป็นที่รู้จักในอดีต

ชิโอริ ยูเอ็น หัวหน้าแผนกต่างประเทศของยามาซัง ซึ่งเป็นบริษัทชาที่ตั้งอยู่ในอุจิ จังหวัดเกียวโต กล่าวว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา ยามาซังได้รับคำสั่งซื้อขายส่งในภูมิภาคใหม่ๆ เช่น แอฟริกาและตะวันออกกลาง โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นผู้บริโภครายใหญ่
...
"ในโซเชียลมีเดียในท้องถิ่นของพวกเขา ผู้คนเริ่มทำมัทฉะลาเต้ หรือแม้แต่มัทฉะปรุงแต่งและเครื่องดื่มมัทฉะอื่นๆ ที่มีน้ำเชื่อม นี่คือเหตุผลหนึ่งที่กระแสความนิยมในตะวันออกกลางยังคงเติบโต" ยูเอ็นกล่าว
ข้อจำกัดด้านการผลิตและการเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางกระแสความต้องการมัทฉะจากทั่วโลกส่งผลต่อกำลังการผลิตมัทฉะเกรดพิธีการ ซึ่งญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศเดียวที่ผลิตมัทฉะกลุ่มนี้ได้ ทำให้ประเทศต่างๆ อย่าง จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา พากันพัฒนาไร่ชาของตนเองขึ้น แม้ว่าการปรับตัวเข้ากับวิธีการเพาะปลูกชาแบบดั้งเดิมจะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา แต่ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในอนาคตจะมีผู้ผลิตมัทฉะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอยู่ที่คุณภาพ ผู้ผลิตไร่ชาในประเทศต่างๆ กำลังดิ้นรนเพื่อให้ได้คุณภาพเทียบเท่ากับฟาร์มญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ผลิตสามารถรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการเพาะปลูกมัทฉะระดับสูงสุดได้ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดแรงกดดันต่อทรัพยากรของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการปูทางให้ประเทศอื่นๆ สามารถสร้างช่องทางของตนเองในตลาดมัทฉะทั่วโลกได้โดยไม่ลดทอนมาตรฐานอันดีเยี่ยมของมัทฉะไป
...
ภูมิภาคที่นิยมบริโภคมัทฉะมากที่สุดในปี 2024 คือเอเชียแปซิฟิก ส่วนภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดคืออเมริกาเหนือ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาอีกด้วย