แม่ทัพใหญ่ของ ซีพีเอฟ คุณ ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ที่นั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่ง ซีอีโอ มาแล้วเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 นับเป็นซีอีโอที่มีโอกาสสะสมแต้มในการฝ่าด่านความท้าทายหลายเหตุการณ์มาอย่างหนัก ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดช่วงต้นปี 2563 มาจนถึงวิกฤติปลาหมอคางดำ ยังไม่นับภารกิจในการนำพาองค์กรให้สามารถแข่งขันในโลกธุรกิจ เพื่อคว้ายอดขายให้เติบโตปีละ 10% มุ่งไปสู่ตัวเลขหลัก 1 ล้านล้านบาท จากระดับประมาณ 6 แสนล้านบาทให้ได้

ในฐานะซีอีโอ ซีพีเอฟ ยังมีเดิมพันในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานเครือซีพีที่มีอยู่ทั่วโลก 1.2 แสนคน เฉพาะในไทยมีอยู่ประมาณ 7 หมื่นคนอีกด้วย ดังนั้นแม้แต่ละวันในการทำงานจะยุ่ง วุ่น และใช้พลังงานมากมายแค่ไหน แต่สิ่งที่คุณประสิทธิ์ไม่ละเลย คือการดูแลสุขภาพให้พร้อมทำงานเผชิญทุกสิ่งได้เสมอ อย่างเบาๆ เช่น การประชุมวันละ 6-7 วง บางวันเริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปจนถึงเที่ยงคืน ที่ต้องดึกดื่นขนาดนี้ เพราะเครือข่ายธุรกิจของซีพีเอฟนั้นมีอยู่ทั่วโลก

คุณประสิทธิ์เล่าถึงไลฟ์สไตล์ในการดูแลสุขภาพว่า หากมีเวลาก็ออกกำลังกายเล่นกีฬาที่ชอบ อย่างแบดมินตัน ถึงขั้นมีอีกตำแหน่งรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ ชมรมแบดมินตันของพนักงานเครือซีพีเอฟ หรือ ซีพีเอฟคลับ และหากมีโอกาส ก็พร้อมลงแข่งในแมตช์สำคัญ หรือแมตช์เชื่อมสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ

...

และแน่นอนว่า ภาระที่ท้าทายแบบนี้ ต้องให้เวลาดูแลอารมณ์ความรู้สึกและจิตใจด้วย ซึ่งช่วงที่เป็นซีอีโอของ ซีพี-เมจิ ก็มีโอกาสเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมเรียนรู้การทำสมาธิ เดินจงกรม และฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน

“จริงๆ สนใจเรื่องธรรมะมานาน แต่ไม่มีเวลานัก จนมีช่วงปลายปี ปีหนึ่ง มีเวลาว่าง 5 วัน ก็เลยไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ที่มีข้อห้ามหลายอย่าง จนถึงการห้ามพูด ช่วงต้นๆ ก็รู้สึกว่ายาก แต่พอถึงวันที่ 5 วันสุดท้าย คือวันที่ดีที่สุดอย่างไม่น่าเชื่อ”

จากวันนั้นในจังหวะเวลาที่คุณประสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของซีพีเอฟ ประมาณ 5 ปีผ่านไป ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีโอกาสไปไปรื้อฟื้นการไปปฏิบัติธรรม 2 วัน ที่สถานปฏิบัติธรรม ธวีธรรม ที่ อ.ปากช่อง พระอาจารย์ที่มาสอนได้สอนเรื่องการใช้ชีวิตกับธรรมะ ซึ่งผลการไปรื้อฟื้นการปฏิบัติธรรมครั้งหลังสุดนี้ ทำให้เครียดน้อยลง เปรียบเทียบได้ว่าเดิมปกติเครียดระดับร้อย ก็ลดลงไปได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จุดนี้ทำให้รู้สึกว่า ต้องหาเวลาทำอย่างต่อเนื่อง และจะชักชวนให้คนอื่นๆ ลองทำดู เพราะเชื่อว่า ทำให้ได้พลังงานเชิงบวกกับตัวเองและกับองค์กรด้วย

บรรยากาศที่แสนสงบ ณ สถานปฏิบัติธรรม ธวีธรรม ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
บรรยากาศที่แสนสงบ ณ สถานปฏิบัติธรรม ธวีธรรม ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

สำหรับสไตล์การบริหารนั้น ซีอีโอ ซีพีเอฟ เรียกตัวเองว่าเป็นผู้บริหารที่ชอบแก้ปัญหา เมื่อมีปัญหาก็ต้องดึงพลังงานของทีมด้วยวิธีต้องจูงใจให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และทำไมต้องแก้ไข ชี้ให้เห็นผลลัพธ์ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ได้ผลเชิงบวกอย่างไร โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีม เพราะเชื่อว่าไม่ใช่คนใดคนหนึ่งที่เก่งคนเดียว คนทำงานต้องผนึกกำลังกัน มักจะบอกกับทีมงานเสมอว่า ถ้าแก้ปัญหาได้ และทำเรื่อยๆ ก็ดีเอง แก้เรื่อยๆ ก็ได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิธีพูดที่ต้องจูงใจให้ได้ เพราะไม่มีใครรู้จริง เวลาทีมงานพูดอาจไม่ตรงใจเรา ก็อย่าไปถึงขนาดบอกว่าไม่ใช่

“คนที่เป็นผู้นำต้องอดทน ที่จะบริหารจัดการบทสนทนาของทุกคน ต้องดึงพลังให้ได้ เพราะสุดท้ายความสำเร็จก็เป็นทีมอยู่ดี”