“เจาะหูห้ามกินอะไร” เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่มักจะได้ยินบ่อยครั้ง เพราะหลายๆ คนอาจจะเกิดความกังวลว่า หลังเจาะหูแล้ว หากกินอาหารบางชนิดอาจจะส่งผลให้แผลอักเสบ หรือมีอาการบวมแดงได้ บทความนี้ ไทยรัฐออนไลน์จะพาไปไขข้อสงสัยเจาะหูห้ามกินอะไร พร้อมวิธีดูแลง่ายๆ ดังนี้
เจาะหูห้ามกินอะไร เช็ก 5 อาหารควรเลี่ยง
หลังจากเจาะหูมาแล้ว ควรเลี่ยงกินอะไร สามารถเช็ก 5 อาหารที่ควรเลี่ยงได้ดังนี้
1. อาหารทะเล
หลังจากเจาะหูไปแล้วควรเลี่ยงอาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย หมึก หรือปูไปก่อน เพราะนอกจากจะกระตุ้นให้แผลเกิดการอักเสบได้ง่ายแล้ว ยังเสี่ยงต่ออาการแพ้อีกด้วย
2. อาหารหมักดอง
การกินอาหารหมักดอง เช่น ผัก-ผลไม้ดอง ปลาส้ม ปลาร้า แหนม อาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้หรือคันได้ในบางคน จนส่งผลให้แผลบวม อักเสบ หรือเป็นหนองได้ในที่สุด
3. อาหารรสจัด หรืออาหารไขมันสูง
เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีโซเดียมสูง หากกินในปริมาณมาก หรือกินหลังจากช่วงเจาะหูจะส่งผลให้ร่างกายกักเก็บน้ำจนเกิดอาการบวมที่แผล อีกทั้งยังอาจจะส่งผลให้เกิดการอักเสบได้
...
4. เนื้อสัตว์บางชนิด
อีกหนึ่งอาหารที่ควรเลี่ยงในช่วงหลังเจาะหู คือ อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น เนื้อวัว เนื้อจระเข้ เมื่อกินไปแล้วอาจส่งผลให้ย่อยยาก ร่างกายจะต้องผลิตความร้อนมากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้เกิดอาการแผลอักเสบได้
5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลให้มีความร้อนสะสมอยู่ในร่างกาย และอาจจะก่อให้เกิดอาการอักเสบ รวมไปถึงการทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ ดังนั้น หลังเจาะหูแนะนำให้เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ไปก่อน
เจาะหูห้ามกินแอลกอฮอล์กี่วัน
การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้มีความร้อนสะสมในร่างกาย และอาจจะส่งผลให้เนื้อเยื่ออักเสบได้ ทางที่ดี แนะนำให้เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ไปก่อนประมาณ 7-14 วัน
ไขข้อสงสัย “เจาะหูห้ามกินไข่” จริงหรือ
หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า หลังจากเจาะหูห้ามกินไข่ จนทำให้หลายคนสับสน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เจาะหูมา สามารถกินไข่ได้ตามปกติ เนื่องจากไข่อุดมไปด้วยโปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ตลอดจนซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณแผลเจาะหูได้เร็วยิ่งขึ้น
5 วิธีดูแลหลังเจาะหูง่ายๆ แผลหายไว
การดูแลแผลหลังเจาะหูให้แผลหายเร็วและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ และเช็ดทำความสะอาดให้แห้งอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการเกา แกะ หรือสัมผัสบริเวณแผลด้วยมือที่ไม่สะอาด เนื่องจากอาจส่งผลให้บริเวณแผลระคายเคืองได้
- หลีกเลี่ยงการนอนทับบริเวณแผล
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนหรือถอดต่างหูที่ใส่ไว้ออก แนะนำให้ใส่ติดต่อกัน 1 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันการตัน
- กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภทวิตามินบี วิตามินซี ธาตุเหล็ก ซิงค์ หรือโปรตีน
นอกจากจะหลีกเลี่ยงการกินของต้องห้ามแล้ว แนะนำให้สังเกตอาการของตนเองร่วมด้วย หากมีอาการบวม แดง คัน หรือมีหนอง ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และเพื่อความปลอดภัย