หลังจากที่ต้องปิดตัวลงอย่างเป็นทางการเพื่อปรับโฉมครั้งใหญ่ในปี 2562 วันนี้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ กลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยภาพลักษณ์ใหม่ที่หรูหราทันสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์อันโดดเด่นในฐานะ “หมุดหมายของกรุงเทพฯ” อย่างไม่เสื่อมคลาย
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว บุคคลสำคัญทั้งไทย และระดับโลกด้วยการบริการแบบไทยที่อบอุ่น และมีนํ้าใจ รวมทั้งเป็นสถานที่ ที่จารึกผลงานทางศิลปะ สถาปัตยกรรมและจิตรกรรมจากอดีตถึงปัจจุบันไว้อย่างมากมาย
หากกล่าวถึงอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่าแห่งความทรงจำของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะมีเรื่องราวความงดงามแสดงและแทรกอยู่ในหลายๆ ส่วนทั้งภายในและภายนอกของโรงแรม ที่ถูกนำมาถ่ายทอดอีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างความประทับใจให้กับคนไทย และผู้มาเยือนจากทั่วโลกในเดือนกันยายนนี้ ภายใต้ชื่อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ณ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค
1. Golden Spire ยอดเสาสีทอง สัญลักษณ์แห่งความทรงจำ
ยอดเสาปลายแหลมสีทองบนยอดตึกที่ได้ถูกออกแบบครั้งแรกเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว โดยสถาปนิกญี่ปุ่น Mr. Yozo Shibata หัวหน้าสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบจากบริษัท Kanko Kikaku Sekkeisha (KKS) โดยการออกแบบนั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก ยอดของพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม จนกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ใครเห็นก็ล้วนทราบว่าสถานที่แห่งนี้ คือ เมืองดุสิตธานี และด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตลักษณ์สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ยังคงมีความสวยงาม และดึงดูดสายตาของคนไทยและคนทั่วโลก
...
สำหรับโฉมใหม่นี้ได้มีการสร้างสรรค์ยอดเสาใหม่ที่มีลักษณะโปร่งเพื่อยังคงมองเห็นยอดเสาสีทองเดิมด้านในอย่างชัดเจนโดยมีความสวยงามร่วมสมัยมากขึ้น และมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เกิดความสมดุลกับขนาดของอาคารโรงแรมใหม่ 39 ชั้น เสมือนเป็นจุดเชื่อมต่อแห่งยุคสมัยที่ยังคงรักษามรดกที่สืบต่อมาอย่างยาวนาน โดยที่นี่จะกลายเป็นจุดชมวิว เช็กอิน และกลับมาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ เหมือนที่เคยเป็นมา
2. Golden Façade กรอบอาคารมงคลสีทอง
ไม่เพียงแต่ความงามวิจิตรตามลักษณะสถาปัตยกรรมไทยเท่านั้น แต่ในหลายๆ ส่วนของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ยังมีการสอดแทรกความหมายและความมงคลเอาไว้อย่างครบถ้วนโดยเฉพาะส่วนด้านหน้าของอาคาร หรือกรอบอาคาร (Golden Façade) ที่ถูกสร้างสรรค์ผ่านการวางสมมาตรตามศาสตร์ฮวงจุ้ยเพื่อเสริมมงคล
โดยแรงบันดาลใจมาจากกรอบอาคารสีทองเดิมแต่นำมาปรับรูปแบบใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น และเมื่อเวลาแขกถ่ายรูปจากห้องพัก ตัวกรอบอาคารนี้จะทำหน้าที่เป็นกรอบรูปสีทอง (Golden Photography Frame) ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นพร้อมรับ Panoramic View ของสวนลุมพินีได้อย่างเต็มตา
3. Library 1918 สถานที่รำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ก่อนที่จะมาเป็น ห้องไลบรารี่ นั้น ห้องนี้เคยเป็นห้องอาหารอิตาเลียน และห้องจัดเลี้ยงนํ้าชาที่จัดถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ในรัชกาลที่ 6 ภายหลังเมื่อได้ปรับมาเป็นห้องประชุมจึงได้ออกแบบให้ภายในห้องตกแต่งด้วยหัตถศิลป์งานฉลุไม้ที่สง่างามประดับตกแต่งด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ และมีข้าวของเครื่องใช้ในองค์รัชกาลที่ 6 ซึ่งของสะสมต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นการเทิดพระเกียรติองค์รัชกาลที่ 6 ในฐานะผู้สร้างเมืองจำลองดุสิตธานีขึ้น เพื่อใช้ทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) ห้องดังกล่าวได้ถูกใช้สำหรับการจัดงานขนาดเล็กในโอกาสต่างๆ อาทิ พิธีหมั้นแบบไทย การจัดเลี้ยงรับรองเป็นการส่วนพระองค์แก่ราชวงศ์ และบุคคลสำคัญชั้นนำทั้งจากไทยและต่างประเทศ
4. Trees from original Dusit Thani Bangkok ต้นไม้ต้นแรกที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ปลูกไว้
การกลับมาของสวนไม้เมืองร้อนที่สะท้อนมาตรฐานการดูแลจากต้นนํ้าสู่ปลายนํ้าตอกยํ้าวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวและสร้างพื้นที่พักใจให้กับผู้ที่มาพักอาศัย สะท้อนการดูแลอย่างใส่ใจทั้งโครงการรวมถึงต้นไม้ ทางโครงการฯ ได้รักษาต้นลีลาวดี ที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นคนปลูกบริเวณนํ้าตก โดยได้ย้ายไปอนุบาลไว้ในระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ และเมื่ออาคารของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ต้นไม้แห่งความทรงจำนี้จะถูกนำมาปลูกไว้ภายในโครงการฯ ตามเดิม อีกหนึ่งความตั้งใจของ คุณชนินทธ์ โทณวณิก คือการพัฒนาที่ดินให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง และชุมชน เราจึงออกแบบให้โครงการฯ มี Roof Park หรือพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีก 7 ไร่ เพื่อให้ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และใช้เป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อนและสันทนาการ
5. Signature Cascading Waterfall นํ้าตกสวรรค์ชั้นดุสิต
หนึ่งในซิกเนเจอร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ คือ นํ้าตก 9 ชั้น ที่สร้างความสงบและร่มเย็นต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยือน นํ้าตกจะถูกแบ่งระดับชั้นเป็น 3 ชั้น (ด้านบน) หมายถึง ไตรภูมิทั้ง 3 โลก และ 6 ชั้น (ด้านล่าง) หมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น เมื่อนำทั้งสองเลขมารวมกันจะได้เป็นเลข 9 ตัวเลขมงคลที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมให้ความสำคัญ โดยนํ้าตกจะถูกรายล้อมด้วยมวลบุปผชาตินานาชนิด โดยการกลับมาครั้งใหม่นี้ “นํ้าตกสวรรค์ชั้นดุสิต” จะกลับมาสร้างความร่มรื่น และสดชื่นให้กับผู้พักอาศัยบนพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นและสมบูรณ์แบบกว่าเดิม
...
6. Signature Lobby’s Ceiling เพดานล็อบบี้สีทองอร่าม
ดีไซน์ฝ้าเพดานหลุมในบริเวณล็อบบี้ชั้นล่างของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งใหม่ จะเป็นการสร้างสรรค์ที่ผสานความทันสมัยแบบใหม่ และอัตลักษณ์ของรูปทรงฝ้าดั้งเดิมของโรงแรมเข้าด้วยกัน โดยดีไซน์ให้เป็นฝ้าขั้นบันไดทรงสี่เหลี่ยมสีทอง ซึ่งต่อเนื่องมาจากบริเวณ drop off ด้านนอกเข้าจนถึงด้านใน lobby ผสานกับการออกแบบแสงไฟที่ลงตัวเพื่อให้เกิดมิติด้านความงดงามอย่างลงตัว ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้เกิดเอกลักษณ์กับพื้นที่สำหรับรับรองแขกคนสำคัญ และจะสร้างการจดจำที่ประทับใจในทุกครั้งที่ได้มาเยือน
7. Decorative Lobby’s Screens อัตลักษณ์ไทยแท้
เส้นโค้งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “สินเทา” งานจิตรกรรมฝาผนังแบบดั้งเดิมของไทย ทว่ามีการปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปทรงที่ดูคล้ายก้อนเมฆเพื่อสื่อถึงแนวคิดเรื่องสรวงสวรรค์ที่เชื่อมโยงกับความหมายตามชื่อ “ดุสิต” สะท้อนความสง่างามที่จะสะกดสายตาผู้มาเยือนทุกคน สำหรับผืนภาพภายในได้หยิบยกความสวยงามของโครงสร้างฝ้าเพดาน และเสาที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งเดิมมาเป็นแรงบันดาลใจ ที่นับเป็นสถาปัตยกรรมตกแต่งงดงามตามเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ซึ่งออกแบบจากผลงานจิตรกรรมรูปสระบัวของ “ขรัวอินโข่ง” ศิลปินชาวไทยผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในช่วง ค.ศ. 1850 - 1860 (พ.ศ. 2393 - 2403) โดยสะท้อนความหมายของดอกบัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์เครื่องบูชา และความดีงามของพระพุทธศาสนา จากการที่ดอกบัวจะผุดขึ้นสู่แสงสว่างและความอบอุ่น ซึ่งเป็นนัยสื่อแทนการตรัสรู้ และด้วยแนวคิดการออกแบบซึ่งมีที่มาจากการเติบโตของบัวเช่นนี้ ดีไซน์ดังกล่าวจึงสื่อถึงจินตนาการดุจดั่งกำลังเดินอยู่เบื้องล่างของสระบัว
...
8. เสาเบญจรงค์ กับผลงานชิ้นเอกที่สรรสร้างอย่างบรรจง
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่อยู่คู่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ มานาน 50 กว่าปีนั้นคือ เสาเบญจรงค์ เสาเอกขนาดใหญ่ 2 ต้น ที่มีนํ้าหนักรวมกว่า 10 ตัน โดยนับเป็นผลงานศิลปะที่ดำรงไว้เพื่อสะท้อนความเป็นเมืองดุสิตธานี โดยได้ถูกนำกลับมาเป็นอัตลักษณ์เพื่อเชื่อมรอยต่อของประวัติศาสตร์อีกครั้ง ด้วยความวิจิตรของตัวเสาที่ได้ถูกวาดลวยลายจิตรกรรมไทยไว้อย่างประณีต นับเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ โดย "ท่านกูฏ" อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูล และถอดความหมายจากภาพจิตกรรมวัดโพธิ์ ทั้งการใช้สี และลวดลายก่อนลงมือเพนต์จริง นับว่าเป็นผลงานที่เชื้อเชิญให้ผู้ที่มาเยือนเข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมไทยอย่างเต็มเปี่ยมตามที่ทางโครงการมุ่งมั่นรักษาคุณค่าความเป็นไทยแบบดั้งเดิมไว้
9. Heritage Suites ผสานต้นแบบความเป็นไทยอย่างครบสมบูรณ์
จากอดีตถึงปัจจุบัน ห้องสวีทที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ นับว่าเป็นต้นแบบความเป็นไทยที่แท้จริงไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ต่างก็หลงใหลตั้งแต่แรกเข้าพัก โดยมีเอกลักษณ์ของการออกแบบบวกกับการตกแต่งห้องที่รังสรรค์อย่างประณีตบรรจงผ่านการสอดแทรกวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างไทยในแบบฉบับของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ อาทิ การนำเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างลายลูกฟัก และผนังไม้ฝาปะกนบ้านไทยมาร่วมตกแต่งภายในห้อง
...
ด้านบริเวณหัวเตียงที่ยังคงใส่ใจในรายละเอียดด้วยการเพิ่มลวดลายที่ปักด้วยมือทุกชิ้นสื่อความหมายถึงสรวงสวรรค์ และการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปร่างโค้งนุ่มนวลแบบไทยเพื่อทำให้องค์ประกอบของห้องดูร่วมสมัยมากขึ้น
การกลับมาใหม่ครั้งนี้ ห้องพักทั้ง 257 ห้องจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และทั้งหมดสามารถมองเห็นความร่มรื่นของสวนลุมพินีได้อย่างเต็มตาผ่านช่องหน้าต่างที่เป็นกระจกบานใหญ่สูงจากพื้นจรดเพดาน ซึ่งตกแต่งด้วยขอบสีทองหรูหราเพื่อสื่อถึงภาพความทรงจำที่น่าประทับใจ และยังเสริมความพิเศษด้วยพื้นที่พักกายชมวิวริมหน้าต่างเพื่อให้ผู้พักอาศัยความผ่อนคลาย และชื่นชมความงดงามของธรรมชาติกับบรรยากาศอันแสนสงบจากภายในห้องพัก การตกแต่งภายในของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ได้รับการออกแบบจาก André Fu Studio ซึ่งได้รับการยกย่อง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยการออกแบบได้คำนึงถึงความต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างลงตัว สื่อความหมายของคำว่า Heritage ได้อย่างสมบูรณ์
การอนุรักษ์มรดกแห่งความทรงจำอันทรงคุณค่าที่เปี่ยมไปด้วยความหมายเหล่านี้ จะเป็นภาพสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่ต้องการสานต่อเรื่องราวแห่งความใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อเชื่อมโยงมรดกทางความทรงจำให้คงอยู่บนรากฐานของความแข็งแกร่งทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันงดงามของไทย สู่การหลอมรวมกับตัวตน อัตลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เพื่อนำเสนอจุดยืนแห่งความเป็นไทยร่วมสมัยของ “หมุดหมายกรุงเทพฯ”
พร้อมมอบประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ที่ยอดเยี่ยมเหนือระดับในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการบริการอันเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแบบ Gracious Hospitality สมกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งในการสะท้อนความเป็นไทยสู่สากล และนี่คือองค์ประกอบที่สำคัญของ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โครงการมิกซ์ยูสชั้นนำใน Super Core CBD ของกรุงเทพฯ โดยโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในปลายเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา