ความฝันจะเกิดขึ้นขณะที่นอนหลับ ในแต่ละครั้งจะมีการฉายภาพเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องที่เคยเกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้นจริง และเรื่องเหนือจินตนาการ บางครั้งก็อาจจะเป็นฝันซ้อนฝัน จนทำให้เมื่อตื่นนอนขึ้นมา หลายคนอาจจะเกิดความสับสนและสงสัยได้
ไทยรัฐออนไลน์ชวนทำความรู้จัก ฝันซ้อนฝันคืออะไร เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้ภาวะฝันบ่อยๆ ซ้อนฝันหลายรอบจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพในบทความนี้
ทำความรู้จัก “ฝันซ้อนฝัน” คืออะไร
ฝันซ้อนฝัน หมายถึง ภาวะที่รู้ตัวว่าตนเองกำลังอยู่ในความฝัน สามารถจดจำและควบคุมความฝันได้ เช่น ฝันว่ากำลังขับรถ เมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่าเป็นเพียงความฝัน แต่ขณะนั้นกำลังนั่งอยู่หลังพวงมาลัย และได้ยินเสียงแตรบนท้องถนน ก่อนจะตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หรือฝันว่านอนอยู่ในบ้านที่ไฟไหม้ จึงตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจและพบว่าเป็นเพียงความฝัน แต่ก็ได้กลิ่นเหม็นไหม้เช่นเดิม ก่อนจะตื่นมาอีกครั้งท่ามกลางความงุนงง
ฝันซ้อนฝันเกิดจากอะไร
ในเชิงจิตวิทยา ได้มีการนำเสนอแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับฝันซ้อนฝันไว้หลายรูปแบบ เช่น ฝันซ้อนฝันเกิดจากจิตใต้สำนึก ความกลัว ความปรารถนา หรือแม้แต่อารมณ์ในจิตใจของคนนั้นๆ เป็นความฝันประเภทที่เกิดได้ไม่บ่อยมากนัก และมักจะเกิดในช่วงที่ร่างกายกำลังตกอยู่ในสภาวะ REM (Rapid Eye Movement) หรือช่วงที่สมองตื่นตัวคล้ายกับตอนตื่น
...
มัดรวม 5 วิธีแก้นอนฝันบ่อย ทำอย่างไรได้บ้าง
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะฝันซ้ำ หรือฝันซ้อนฝัน แต่หากฝันบ่อยจนส่งผลให้หลับๆ ตื่นๆ หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ แนะนำลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยได้ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
คาเฟอีนมีฤทธิ์ในการกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวอยู่เสมอ หากต้องการนอนหลับให้สนิท ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน และดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับง่ายขึ้นแทน เช่น ชาคาโมมายล์ นมอุ่นๆ หรือน้ำมะพร้าว
2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และนอนหลับได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ใครที่เป็นมือใหม่อาจเริ่มจากการออกกำลังง่ายๆ ที่ตนเองชื่นชอบหรือถนัดก่อน
3. ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
สภาพแวดล้อมภายในห้องนอนล้วนส่งผลต่อการนอนหลับทั้งสิ้น ดังนั้น แนะนำให้เลือกหมอนหรือที่นอนที่นุ่ม ตอบโจทย์ต่อสรีระ ไม่ควรมีแสงหรือเสียงรบกวน และมีอุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะช่วยให้หลับสบายยิ่งขึ้น
4. แช่น้ำอุ่นก่อนนอน
การแช่น้ำอุ่นก่อนนอนจะช่วยคลายความเหนื่อยล้าและความกังวลได้ โดยอาจจะเลือกแช่น้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 40-50 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง ก็จะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น ลดความตึงเครียด ความอ่อนล้า และหลับสบายยิ่งขึ้น
5. หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน
เนื่องจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือส่งผลกระทบต่อดวงตา ในขณะเดียวกันก็อาจจะได้รับข้อมูลต่างๆ จนทำให้สมองต้องประมวลผลและตื่นตัว ทางที่ดีอาจจะลองทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น ฟังเพลง นับเลข นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์แทน
ฝันซ้อนฝันเป็นความฝันอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อย แต่หากใครที่กำลังเผชิญอาการฝันซ้อนฝัน หรือฝันซ้ำๆ จนส่งผลกระทบต่อการนอน แนะนำให้ลองปฏิบัติตาม 5 วิธีในข้างต้น หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาวิธีรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด