เหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เราควรมีวิธีป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยและป้องกันการสูญเสียในอนาคต

สาเหตุที่ทำให้พลุระเบิด

เหตุการณ์พลุระเบิดโดยส่วนใหญ่มักมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • เก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ไว้ในที่มีอากาศร้อน หรือติดไฟง่าย
  • การประกอบ ดัดแปลง พลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ไม่ถูกวิธี
  • เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในที่เก็บพลุจึงทำให้เกิดประกายไฟ
  • การผลิตหรือลักลอบเก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ไว้ในครอบครองอย่างผิดกฎหมาย

ผลกระทบจากพลุระเบิด

  • การรั่วซึมของสารเคมีที่เป็นอันตราย ทำให้ระคายเคืองตา จมูก หู และผิวหนัง
  • เกิดการบาดเจ็บบริเวณร่างกาย หรือสูญเสียอวัยวะ เช่น นิ้วมือ แขนขา ดวงตา ฯลฯ
  • ความรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิต

6 วิธีป้องกันพลุระเบิด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่วิธีป้องกันพลุระเบิด เพื่อเป็นแนวทางป้องกันก่อนเกิดเหตุร้ายไว้ดังต่อไปนี้

  1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการผลิตหรือขายพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ได้รับการอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย
  2. ไม่ผลิตหรือจัดเก็บใกล้กับอาคารบ้านเรือนหรือชุมชน
  3. ไม่เก็บรักษาพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ไว้ในที่มีอุณหภูมิสูง
  4. เตรียมความพร้อมในการป้องกันอัคคีภัย เช่น ภาชนะบรรจุน้ำ ถังดับเพลิงไว้บริเวณใกล้ๆ
  5. ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาเสพติด ในบริเวณที่มีพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ
  6. ไม่ประกอบ ดัดแปลง พลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ

กฎหมายการครอบครองพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ

...

กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้า และการครอบครองการขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง ในปี 2547 ไว้ดังต่อไปนี้

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock
  1. ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
  2. ถ้าปรากฏว่าที่เก็บ ทำ หรือค้าดอกไม้เพลิง อาจเป็นอันตรายแก่ประชาชน เพื่อความปลอดภัยนายทะเบียนท้องที่จะสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตจัดการตามความจำเป็น หรือจะให้ย้ายจากสถานที่นั้นเสียก็ได้
  3. ห้ามเก็บสะสมดอกไม้เพลิงไว้ในอาคารสถานที่หรือบริเวณที่ใช้ค้าขาย ดอกไม้เพลิงมีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดโดยไม่รวมวัสดุห่อหุ้มเกิน 50 กิโลกรัม

ข้อมูลอ้างอิง : พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490