ยามศึกสงคราม พระท่านก็เป็นลูกชาวบ้าน ห่วงบ้านเมืองเหมือนชาวบ้าน ช่วยด้านขวัญกำลังได้ก็ช่วยไป บางรูปเกินเลยไปถึงขั้นนำทัพสู้รบก็มี
สงครามไทย-พม่ารอบสอง...พระอาจารย์ที่คนไทยรู้จัก ก็หลายรูป กิเลน ประลองเชิง บันทึกไว้ในคอลัมน์ “ชักธงรบ” เมื่อหลายปีล่วงมาแล้ว ในบรรดาชุมนุมน้อยใหญ่ ที่ก่อตัวขึ้นไล่เลี่ยกับการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 นั้น ชุมนุมบ้านบางระจันกับชุมนุมเจ้าพระฝางมีพระภิกษุเข้ามามีบทบาทสำคัญ
พระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งบางระจัน เจ้าพระฝาง เหมือนกันตรงเป็นพระที่มีพลังจิตตานุภาพ ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากชาวบ้าน ต่างกันตรงที่เจ้าพระฝางเป็นผู้นำ ห่มจีวรแดงแบบพระ นำรบทัพจับศึกเอง..ขณะพระอาจารย์ธรรมโชติ ขีดวงตัวเองว่า “เป็นพระ” ช่วยชาวบ้านได้แค่สร้างขวัญกำลังใจ
พงศาวดารเขียนว่า ชื่อเสียงพระอาจารย์ธรรมโชติกระเดื่องดังมาแต่ครั้งอยู่วัดเขานางบวช เดิมทีวัดนี้ผู้รู้บอกว่า อยู่แขวงเมืองสุพรรณบุรี แต่ต่อมาก็พบว่า วัดเขานางบวช แขวงเมืองสิงห์บุรีก็มี อยู่ห่างบ้านบางระจัน 3 กิโลเมตรเท่านั้น
...
ตอนเริ่มศึกบางระจัน พระอาจารย์ธรรมโชติจำพรรษาอยู่วัดโพธิ์เก้าต้น เมื่อนายแท่นกับพวกฆ่าพม่าตายแล้ว ก็หนีไปพึ่งท่าน เหตุการณ์ตอนนั้น ถ้าพระอาจารย์ถือว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ หลีกไปจำพรรษาที่วัดอื่นเสียก็คงได้..แต่พระอาจารย์ธรรมโชติ ท่านก็ใช้วิชา...ทำ ตะกรุด สายสิญจน์ ประเจียด
สร้างความเชื่อมั่นว่าอยู่ยงคงกระพัน เพิ่มขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน ใช้แค่ขวาน มีด ไม้...ฯลฯ ทำสงครามกับพม่า สู้พม่าได้ยาวนานถึง 4 เดือน
มีคนสงสัย ก็เมื่อของขลังของพระอาจารย์ทำให้อยู่ยงคงกระพันได้ เหตุไฉนจึงรบแพ้พม่าเล่าพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ไขเหตุของความไม่คงกระพัน อันนำมาสู่ความพ่ายแพ้ในเดือน 8 ว่า...
“แรกนั้น (วัตถุมงคล) มีคุณอยู่คง แคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่ ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมาก สำส่อน ที่นับถือแท้บ้าง ไม่แท้บ้าง ก็เสื่อมตบะเดชะลง”
ในช่วงเวลาการสู้กับพม่า พงศาว ดารเขียนว่า ชาวบ้านบางระจัน ก่อวีรกรรมฆ่าทหารพม่าตายถึง 3 พันคน จนเมื่อถึงวาระสุดท้าย...วันจบสิ้น ค่ายบางระจันถูกเผา ชาวบ้านบางระจันถูกฆ่าไปกว่าพัน
@@@@@@
“วีรชนชาวบ้านบางระจัน” ผู้หาญกล้าได้ประกอบวีรกรรมพลีชีวิตต่อสู้กับกองทัพพม่า ข้าศึกที่รุกรานเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยเป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้...ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตก กองทัพพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาโดยมีเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพได้ให้กองทหารพม่าไปปล้นทรัพย์และจับชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ
พวกชาวบ้านพากันโกรธจึงคิดแก้แค้น ผู้นำชาวบ้านซึ่งมี นายดอก นายทองแก้ว ได้ลวงทหารพม่าไปฆ่าเสียหลายนายแล้วพากันมายังบ้านบางระจันสมทบกับชาวบ้านบางระจัน
ซึ่งมี นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทอง แสงใหญ่ ขุนสรรค์ พันเรือง...เป็นผู้นำ
ได้รวบรวมกำลังชายฉกรรจ์กว่า 400 คนตั้งค่ายขึ้น ณ บ้านบางระจัน เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่าและได้นิมนต์ “พระอาจารย์ธรรมโชติ” ผู้เรืองวิทยาคมมาเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน
เมื่อกองทัพพม่ารู้เรื่อง “ค่ายบางระจัน” ก็จัดกองทัพมาปราบแต่ก็แตกพ่ายไปถึง 7 ครั้ง
“สระน้ำศักดิ์สิทธิ์”...หรือที่เรียกกันติดปากว่า “สระน้ำพระอาจารย์ธรรมโชติ” อีกศูนย์รวมศรัทธาที่เกี่ยวโยงกับการ “หาบน้ำแก้บน” ด้วยมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่มาบนบานศาลกล่าวในที่แห่งนี้แล้ว สำเร็จสมดังหวังปรารถนาก็จะต้องมาแก้บนด้วยการหาบน้ำถวายท่านตามจำนวนหาบที่บนเอาไว้กับท่านพระอาจารย์
...
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็มักจะเห็นมีคนมาหาบน้ำเพื่อแก้บนแทบจะไม่เคยขาด ขันเป็นร้อยๆใบ ไม้หาบอีกนับไม่ถ้วนสะท้อนให้เห็นถึงกระแสศรัทธาได้เป็นอย่างดี
เล่าลือกันว่า...มีบางคนต้องมาแก้บนหาบน้ำถึง 1,000 หาบเลยทีเดียว จะเป็นความสำเร็จในเรื่องใดนั้น ไม่เป็นเรื่องที่บอกกล่าวเล่าต่อๆกันมา แต่ที่แน่ๆคงจะคุ้มเป็นหนักหนากับผลที่ผู้แก้บนได้รับกลับไป
ส่วนใหญ่...ก็จะมาบนกันเรื่องของหาย คนหาย แต่ที่ขึ้นชื่อมากๆก็จะเป็นเรื่องขอให้ลูกชายไม่โดนทหาร...เรื่องดังกล่าวนี้ใครมาก็มักจะสมหวังดั่งใจเสมอ
...
หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน เคยเล่าไว้ว่า เมื่อก่อนที่ค่ายเฮี้ยนมาก มีผู้ตักน้ำในสระพระอาจารย์ธรรมโชติไปใส่หม้อน้ำรถ...ก็เกิดระเบิดเลย ใครลักอะไรไปต้องนำไปคืน ใครจะไปเอาอิฐหมายเพื่อเป็นสิริมงคลนั้น สุดท้ายก็ต้องเอาไปคืนหมด แต่ก็มีคนอยากได้เสมือนเป็นการลองของ...
ทว่า...หลายเรื่องราวเล่าขาน ผู้ที่เก็บอิฐไป...บางคนก็ประสบอุบัติเหตุ เคราะห์ร้าย บางคนเอาไปไว้ในบ้านตกดึกก็กลับกลายมี เสียงผู้คนครวญครางร้องกันกระหึ่ม จนต้องเอามาคืน
@@@@@@
เกิดมาใครไม่ม้วย มีไฉน บางระจันม้วยสม ศักดิ์ม้วย
ม้วยด้วยเกียรติเกรียงไกร เกริ่นเกริก ออมยศยอมม้วยด้วย ค่าแพง
ค่ายบางระจัน...เสียแก่พม่า เมื่อวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปี 2309...
ลูกหลานบางระจันร่วมงานรำลึกวีรชนค่ายบางระจัน ณ วิหารหลวงพ่อพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น หมู่ 8 ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน...ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลและอธิษฐานจิตอุทิศถวาย “หลวงปู่ธรรมโชติ” และ “วีรชนค่ายบางระจัน” อันศักดิ์สิทธิ์
...
คำบูชา...วีรชนค่ายบางระจัน ตั้งนะโม 3 จบ ระจัน สัมปะติ โยธะ โสกะติยัง สยาม กะติยัง สยาม กิตติยานัง เอหัง สยาม พังยะ กายัง กาสัง กาติ นิติ สันยะ ประนัง นะตายัง
ข้าพเจ้าชื่อ.................นามสกุล.......................
ระจัน เทวา สาระจัน เทวา ระจัน กำมะสา กิตติ อุติ สัมปันโน สัมปันนัง สัมปันหัง เทวา ทะตินัง ทะติหัง การะนัง กะเตยะสา กะเตยะสา กะเตยะสา ระจันสาธุ ระจันสาธุ ระจันสาธุ
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม