อาการคลุ้มคลั่งทางจิต เป็นอาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย และคนรอบข้างในสังคม เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าจะมีอาการคลุ้มคลั่งเกิดขึ้นตอนไหน
จากเหตุการณ์ “กราดยิงสายไหม” ที่มีตำรวจนายหนึ่งเกิดอาการคลุ้มคลั่งทางจิต ยิงปืนบริเวณบ้านพักจำนวนหลายนัดในย่านสายไหม ต่อมาพบว่าผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยทางจิตอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งวันที่เกิดเหตุอยู่ระหว่างพักราชการเพื่อรักษาตัว จึงทำให้ต้องมีการปิดล้อมพื้นที่และเกลี้ยกล่อมผู้ก่อเหตุนานต่อเนื่องข้ามคืน
อาการคลุ้มคลั่งทางจิต เกิดจากอะไร
อาการคลุ้มคลั่งทางจิต เป็นอาการป่วยทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติทางความคิด การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหลายครั้งนำมาซึ่งผลเสียที่พบบ่อยในสังคม เช่น การทำร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชถูกมองเป็นคนน่ากลัว หรือถูกอคติจากสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคดังกล่าวสามารถบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ เริ่มต้นที่คนในครอบครัวผู้ป่วยเอง
อาการป่วยทางจิตเวชเกิดจากสารเคมีสื่อประสาทในสมองถูกรบกวน เช่น การใช้สารเสพติด กรรมพันธุ์ การติดเชื้อ ความกดดัน ความเครียด อุบัติเหตุทางสมอง ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์ และพฤติกรรมการแสดงออก เนื่องจากสารเคมีที่เปลี่ยนแปลงในสมองนั้นส่งผลทางด้านความคิด การรับรู้ และการใช้ชีวิตในสังคม โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้
- ผลกระทบต่อความคิดคือผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิด หรือคิดว่าจะมีคนมาทำร้ายทั้งที่ไม่มี
- ผลกระทบต่อการรับรู้คือการเห็นภาพหลอน หูแว่ว แตกต่างไปจากความเป็นจริง สามารถรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 แต่ที่พบบ่อยที่สุดคืออาการหูแว่ว
- ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม คือผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีสมาธิ เนื่องจากเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นจากความคิดของตนเอง
...
วิธีสังเกตอาการคลุ้มคลั่งทางจิต
อาการคลุ้มคลั่งทางจิต สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นเพื่อใช้ป้องกันตนเองและคนรอบข้างได้ดังนี้
- ผู้ป่วยมักมีความเครียดเกิดขึ้นก่อน
- มีอาการประสาทหลอน เช่น ได้ยินเสียงคนพูดขณะอยู่คนเดียว เห็นภาพแปลกๆ รู้สึกเหมือนมีแมลงไต่ตามร่างกาย
- ยิ้มคนเดียว พูดพึมพำเรื่อยเปื่อย
- มีความหวาดระแวง และมักแยกตัวจากสังคม
- มีอาการคลุ้มคลั่ง เกรี้ยวกราด ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายคนรอบข้าง
อาการเหล่านี้เป็นอาการป่วยของโรคทางจิตเวช หรืออาจเป็นความผิดปกติในสมองทำให้บุคลิกภาพผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน ทั้งด้านพฤติกรรม ความคิดและอารมณ์ ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ญาติเข้าใจผิดว่าถูกผีวิญญาณเข้าสิง หรือถูกคุณไสย
อาการคลุ้มคลั่งทางจิต รักษาได้ไหม
อาการคลุ้มคลั่งทางจิต ใช้การรักษาแบบเดียวกับการรักษาผู้ป่วยจิตเวช มีการรักษาทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา การใช้ยาจะให้ยาเป็นตัวปรับสารเคมีในสมองที่เป็นผลต่อโรคให้มีความสมดุล ส่วนการรักษาโดยไม่ใช้ยาจะดูแลในเรื่องของความเครียดที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรค หรือรักษาอาการป่วยทางร่างกายที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวช
- การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ มีดังนี้
- ตรวจพบแต่เนิ่นๆ รักษาให้เร็วและต่อเนื่อง
- ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้การสนับสนุน พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกกับผู้ป่วย
- ให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อชีวิต ได้แก่ การเรียน งานอาชีพ งานอดิเรก
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การใช้สารเสพติด
อย่างไรก็ตาม คนในครอบครัวคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ควรทำความเข้าใจ เปิดใจรับฟัง รวมถึงให้กำลังใจผู้ป่วย และไม่มองว่าผู้ป่วยเป็นบุคคลอันตราย หรือแสดงอาการหวาดกลัวต่อผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการพูดจาด้วยถ้อยคำรุนแรงต่อผู้ป่วย เพราะอาจส่งผลให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, กรมสุขภาพจิต