“บุหรี่ไฟฟ้า” กลายเป็นที่สนใจในโลกโซเชียล หลังจากที่ดาราสาวชาวไต้หวันอ้างว่าโดนตำรวจปรับฐานพกพาบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าเหมาะสมหรือไม่
เพราะเหตุใด “บุหรี่ไฟฟ้า” จึงเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย หากเป็นผู้ครอบครองจะได้รับโทษอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลจากกรมศุลกากรได้เผยถึงรายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้
บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร
บุหรี่ไฟฟ้า (E - Cigarette) คือ อุปกรณ์สูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง มีกลไกไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ให้ความร้อน ทำให้สารนิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่างๆ เกิดการระเหย ผู้สูบจึงสูบไอระเหยนั้นเข้าไป และแม้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ทำให้เกิดควันจากการเผาไหม้เหมือนกับบุหรี่ทั่วไป จึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารอันตรายจากการเผาไหม้บางตัวได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย 100% เนื่องจากสารเคมีในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังมีอันตรายต่อผู้สูบอยู่ดี
ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าถึงผิดกฎหมาย
สาเหตุที่ทำให้ บุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมาย ก็คืออันตรายที่ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอันตรายจากสารเคมีในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีงานวิจัยพบว่าในไอบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษมากกว่า 100 ชนิด เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและมะเร็ง รวมทั้งมีงานวิจัยกว่า 7,000 ชิ้น ที่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อร่างกายอีกด้วย
...
นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ เนื่องจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีตัวเลือกที่หลากหลาย ทำให้มีกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น ดังนั้นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจึงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทยไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557
บุหรี่ไฟฟ้า และโทษทางกฎหมาย
ห้ามนำเข้า
“บุหรี่ไฟฟ้า” ถูกจัดว่าผิดกฎหมาย และห้ามนำเข้าประเทศไทยโดยเด็ดขาดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522
ปัจจุบัน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมถูกริบสินค้า และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดนำเข้าของที่ผ่าน หรือกำลังผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้าในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำเลียงโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด หรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ซึ่งความผิดที่ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งของที่มิได้ผ่านพิธีการศุลกากรจะได้รับคือ ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิด
ห้ามสูบในที่สาธารณะ
หากมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ห้ามครอบครอง
สำหรับกรณีของผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ซื้อ รับไว้ หรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ทั้งที่รู้อยู่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของที่ห้ามนำเข้ามาประเทศไทย ต้องถือว่ามีความผิดเช่นกัน ซึ่งหากถูกจับกุมดำเนินคดีต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ซึ่งมาตรการทางกฎหมายเหล่านี้ของประเทศไทยถือว่าสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก
ห้ามจำหน่าย
การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดฐาน “ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งห้ามขาย หรือห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มาตรา 29/9 มาตรา 56/4 และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
อ้างอิงข้อมูล: กรมศุลกากร, กระทรวงยุติธรรม