หลอกลงทุนออนไลน์มีเส้นบางๆ ระหว่างการได้เงินจริง กับตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่พยายามตกเบ็ดล่อเหยื่อ หาผู้ที่หลงเชื่อมาเป็นลูกโซ่ แรกๆ อาจจะได้เงินจริง แต่หลังๆ หลอกให้โอนเงินไปอีก สุดท้ายไม่จ่าย กลลวงมิจฉาชีพหลอกลงทุนออนไลน์เปลี่ยนไปทุกวัน ควรศึกษาและตามให้ทันก่อนจะเจอกับคนใกล้ตัว ดั่งที่เก็บมาเล่าต่อไปนี้

หลอกลงทุนออนไลน์ รับงานผ่าน Facebook

ผู้เสียหายเปิดเผยข้อมูลให้กับไทยรัฐออนไลน์ว่าเจอประกาศหางานผ่าน Facebook โดยมีข้อความโฆษณาจูงใจ คือ มีสมาร์ทโฟนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต, รับงานอยู่บ้าน, ให้ลงทุนเพิ่มหากอยากได้ค่าคอมมิชชั่นเพิ่ม

เริ่มแรกเจอประกาศจาก Facebook เนื่องจากเธอเพิ่งตกงาน กำลังหางานทำที่สามารถทำได้ที่บ้าน โดยตอนแรกก็ยังไม่เชื่อว่างานแบบนี้จะทำเงินได้จริง แต่ก็ลองเสี่ยงทำดู โดยทักไปยังไลน์ของประกาศที่ให้ไว้

ทางแอดมินอธิบายว่าเป็นงานกดรับสินค้า เพื่อดันยอดให้กับร้านค้าออนไลน์ โดยให้เรานำลิงก์ที่เขาส่งมาให้ ไปสมัครลงทะเบียนเพื่อมีบัญชีเป็นชื่อของเรา ภายหลังแอดมินจะให้โอนเงินเข้าบัญชีเพิ่มเพื่อลงทุน

ตัวอย่างการพูดคุยของมิจฉาชีพ

ขั้นตอนการลงทะเบียนเมื่อพูดคุยกับแอดมิน

...

หน้าตาเว็บไซต์ที่หลอกให้ลงทะเบียนเพื่อรับค่าคอมมิชชั่น

คนใกล้ตัวผู้เสียหายเล่าว่า มิจฉาชีพพวกนี้มีจิตวิทยาในการพูดคุยกับคนที่ตกเป็นเหยื่อ โดยรู้ว่าคนแบบไหนที่มีสภาพจิตใจโอนอ่อน ง่ายต่อการชักจูง และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็มักเป็นผู้ที่ต้องการรายได้ โดยไม่ทันได้สังเกตพฤติกรรมที่น่าสงสัย อาทิ

  • ไม่ได้นำเลขบัญชีไปเช็กตรวจสอบ “บัญชีคนโกง”
  • ให้ลิงก์ หรือ รหัส ที่ไม่น่าเชื่อถือมาเพื่อกดต่อไป
  • มีการขอข้อมูลส่วนตัว พวกเลขบัญชี สำเนาบัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์

กรณีนี้เมื่อผู้เสียหายเริ่มไหวตัวทันจากการสอบถามเรื่องค่าคอมมิชชั่นงวดต่อไป ทางแอดมินก็บล็อกไปเสีย เมื่อใช้บัญชีไลน์ใหม่ทักไป มิจฉาชีพก็ยังคงดำเนินการตอบและหลอกผู้อื่นต่อไป

ผู้เสียหายเล่าเพิ่มเติมว่า ก่อนจะบล็อกก็ได้สอบถามถึงการจ่ายเงินงวดที่เหลือ ทางแอดมินก็บ่ายเบี่ยง สุดท้ายก็บอกว่าถ้าอยากได้เงินคืนก็ให้ไปหาวิธีแจ้งความเอา

มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินแบบนี้ ผู้เสียหายทำอะไรได้บ้าง

ผู้เสียหายหลายคน เห็นว่าเงินที่ถูกหลอกไปเป็นจำนวนเล็กน้อย เสียเวลาที่จะไปแจ้งความ จึงเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพพวกนี้ทำงานหลอกคนอื่นต่อไปได้ และการตามตัวหาผู้กระทำผิดตัวจริงก็เป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าชื่อบัญชีที่โอนไปเป็นคนร้ายตัวจริงหรือไม่?

ปัจจุบันนี้มีหลายคนถูกมิจฉาชีพหลอกขอบัตรประชาชนไปเปิดบัญชี แล้วนำบัญชีนั้นไปหลอกลวงคนอื่นอีกมากมาย ดังนั้นห้ามส่งรูปสำเนาบัตรประชาชน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังไปให้ใครโดนไม่เซ็นกำกับเด็ดขาด

วิธีการเซ็นสำเนาบัตรประชาชน

1. ขีดฆ่า ขีดคร่อม
2. เซ็นชื่อแล้วเซ็นวันที่กำกับด้วย
3. เซ็นหมายเหตุว่าใช้สำหรับทำอะไร เช่น

  • ใช้สำหรับเปิดบัญชีกับธนาคาร…. เท่านั้น
  • ใช้สำหรับทำบัตรเครดิตกับธนาคาร..เท่านั้น
  • ใช้สำหรับกู้เงินธนาคาร….เท่านั้น
  • ใช้สำหรับปิดบัญชีบัตรเครดิตธนาคาร….เท่านั้น
  • ใช้สำหรับสมัครงานกับบริษัท….เท่านั้น
  • ใช้สำหรับรับรางวัลกับ….เท่านั้น
  • ใช้สำหรับขายฝาก….. กับ….เท่านั้น
  • ฯลฯ

...

ปัจจุบันนี้หากไม่ใช่การรับสมัครงาน หรือการติดต่อกับหน่วยงานราชการ ไม่ควรถ่ายสำเนาบัตรประชาชนหน้าหลัง ที่มีรหัสตัวอักษรกับตัวเลขให้ใคร เพราะนำไปทำธุรกรรมเปิดบัญชีพร้อมเพย์ได้

การแจ้งความโดนหลอกโอนเงิน มีขั้นตอนอย่างไร

เมื่อรู้ตัวว่าเป็นเหยื่อซื้อของออนไลน์โดนหลอก, มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน, มิจฉาชีพหลอกขอบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีแล้ว ให้รีบรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความ หรือ ร้องเรียน ได้ดังนี้

1. การแจ้งความ

ติดต่อกับสถานีตำรวจท้องที่ หรือแจ้งตำรวจไซเบอร์ 1441

2. ติดต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

TCC Online Center หรือ สภาองค์กรของผู้บริโภค สอบ. เป็นช่องทางให้ผู้เสียหาย หรือผู้ที่ต้องการร้องเรียนเหตุที่มิชอบ โดยไม่หวังผลประโยชน์เป็นการส่วนตัว มีขั้นตอนดังนี้

1. รวบรวมหลักฐาน เอกสารการโอนเงิน สลิป ใบเสร็จรับเงิน ไฟล์ภาพ เสียง
2. เขียนบันทึกเล่าเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน เวลาเท่าไหร่ เสียหายอย่างไร มีเอกสารอะไรเป็นหลักฐานได้บ้าง
3. ต้องการให้ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค สอบ.ช่วยเหลือติดตามเรื่องอย่างไรบ้าง
4. แจ้งชื่อ สกุล เบอร์โทรศัพท์ ที่ติดต่อได้

การแจ้งเรื่องร้องเรียน ต้องลงทะเบียนก่อนที่ crm.tcc.or.th โดยสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนด้วยตัวเอง หรือแจ้งเบาะแสโดยไม่ประสงค์ออกนาม และไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้การลงทะเบียนบนหน้าเว็บก็สามารถติดตามสถานะเรื่องร้องเรียนได้ด้วยตัวเอง

สรุป การจ้างงานอันเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นมิจฉาชีพมากที่สุด คือการสมัครใดๆ แล้วให้เราโอนเงินไปก่อน แบบนี้โกง ไม่ต้องสืบ!

สุดท้ายนี้ หากไม่มั่นใจก่อนโอนเงินก็ควรเข้าไปเช็กบัญชีคนโกง หากพบชื่อ ก็งดโอน ปรึกษาคนรอบข้างให้ช่วยเช็กก่อนโอน

...

เรื่อง : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun