ปกติแล้วหลุมดำเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก จะสามารถตรวจจับการมีอยู่ของพวกมันได้ก็ต่อเมื่อตรวจพบแรงดึงโน้มถ่วงเท่านั้น หากมีหลุมดำที่ลอยอย่างอิสระรอนแรมไปทั่วกาแล็กซี โดยไม่ผูกติดอยู่กับดวงดาวที่ส่องสว่างอีกดวงหนึ่ง ก็จะเป็นการยากที่จะตรวจจับหลุมดำนั้นได้
ล่าสุดยานอวกาศไกอาซึ่งเป็นหอดูดาวอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป เพิ่งเปิดตัวชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ชุดที่ 3 ของดาวฤกษ์กว่า 1,500 ล้านดวง หรือประมาณ 1% ของจำนวนดาวทั้งหมดในกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งจากรายงานใหม่จากทีมนักดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฟลอริดาและมหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทิร์นในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ยานไกอาอาจตรวจพบสิ่งรบกวนที่เกิดจากหลุมดำพเนจร ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ชั่วคราวกับดาวฤกษ์ 1,500 ล้านดวงที่อยู่ในคลังข้อมูล โดยเป็นเหตุการณ์หายากที่ยานไกอาไม่ได้จับภาพไว้ในช่วงระยะเวลาการสังเกตการณ์
นอกจากนี้ ทีมนักดาราศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าดาวประมาณ 300,000 ดวงในชุดข้อมูลของยานไกอากำลังแสดงเหตุการณ์การเร่งความเร็ว พร้อมกันนี้ยังตั้งสมมติฐานที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสสารมืดของทางช้างเผือก ว่าการเร่งความเร็วที่สังเกตได้ของดาว 300,000 ดวงนั้นไม่น่าจะเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับหลุมดำจรจัด.
Credit : Caltech-IPAC