เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เชื้อโคโรนาไวรัส หรือโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ เป็นไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน 100% ตามคำยืนยันของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
โดยจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 30 เมษายน-6 พฤษภาคม 2565 ในผู้ป่วยจำนวน 747 ราย พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด ไม่พบสายพันธุ์อื่นๆ
ที่น่าสนใจคือ คำให้สัมภาษณ์ของ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่บอกว่า แม้จะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ซึ่งองค์การอนามัยโลกมีการจับตาและเฝ้าระวังอยู่ทั้งหมด 3 สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน คือ BA.4, BA.5 ซึ่งส่วนใหญ่พบในแถบแอฟริกาใต้และยุโรปบางประเทศ และ BA.2.12.1 ซึ่งพบในสหรัฐ อเมริกาเป็นส่วนใหญ่

คุณหมอศุภกิจ บอกว่า ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนก็เพราะว่า มีข้อสังเกตว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น หรืออาจจะรุนแรงขึ้น
“ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง ตรวจเฝ้าระวัง เน้นกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และผู้ป่วยอาการหนัก โดยใช้วิธีการตรวจเฉพาะจุด หรือ SNP เนื่องจากตำแหน่งเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกันคือ หากพบ L452R ร่วมกับ del69/70 เป็น BA.4 และ BA.5 หากเป็น L452Q จะเป็น BA.2.12.1 ซึ่งประเทศไทยพบเพียง BA.5 จำนวน 1 ราย เป็นคนบราซิล ขณะนี้รักษาหายกลับบ้านแล้ว ส่วน BA.4 และ BA.2.12.1 ยังไม่พบในประเทศไทย แต่พบ BA.2.12 จำนวน 2 ราย เป็นชาวอินเดียและแคนาดา” นพ.ศุภกิจอธิบาย

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งโปรตีนหนาม L452R เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา แต่เร็วเกินไปที่จะสรุปว่ามีความรุนแรงเท่าเดลตา ยังต้องดูข้อมูลต่อไป
ส่วนเรื่องของภูมิคุ้มกัน นพ.ศุภกิจบอกว่า มีรายงานจากแอฟริกาใต้ว่า เมื่อติดเชื้อด้วย BA.1 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะไม่สามารถป้องกัน BA.2 ได้ จึงไม่สามารถกัน BA.4 และ BA.5 ได้เช่นกัน แต่หากติดเชื้อ BA.1 และรับวัคซีนมาก่อน ภูมิคุ้มกันจะลดลงไม่มาก จะช่วยป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากขึ้น

“ย้ำว่าการฉีดวัคซีนดีกว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติ และวัคซีนยังช่วยป้องกันได้หลายสายพันธุ์ มากกว่าภูมิคุ้มกันจากธรรมชาติ” คุณหมอศุภกิจบอก
ส่วนสายพันธุ์ลูกผสมหรือไฮบริดที่ประเทศไทยส่งตัวอย่างไปยังฐานข้อมูลกลางโลก GISAID ยังไม่พบว่าเข้าได้กับสายพันธุ์ลูกผสมตัวใด และการตรวจด้วยเครื่องอัตโนมัติขั้นต้นในการบ่งบอกสายพันธุ์ ขณะนี้มี 12 ตัวอย่าง เข้าได้กับ XM 8 ตัวอย่าง XN 3 ตัวอย่าง และ XE 1 ตัวอย่าง ซึ่งต้องรอ GISAID วิเคราะห์ว่าใช่หรือไม่

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า สายพันธุ์ลูกผสมในไทยไม่น่ากังวล เพราะสายพันธุ์เดลตาหายไปเกือบหมด จึงไม่น่าจะเกิดไฮบริดเพิ่ม ยกเว้นสายพันธุ์ลูกผสมที่พบจะมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ ตำแหน่ง “452” อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” ซึ่ง WHO ให้เฝ้าระวังมีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น อีกทั้งอาจจะมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว หรือ multinucleated syncytial pneumocytes ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ที่ระบาดในอดีต.