จากการที่อยู่ๆ อากาศในประเทศไทยก็มีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาฯ มีความหนาวเย็นปกคลุมบริเวณภาคเหนือ-กลาง-ตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งปกติแล้วเป็นหน้าร้อนของประเทศไทย ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เรามีคำตอบมาให้แล้ว

ปรากฏการณ์ที่ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วนี้เรียกว่า Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากโลกร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีกระแสลมวนที่เรียกว่า Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) ที่ไม่สมดุล ได้พัดพาเอาอากาศที่เย็นจากน้ำแข็งที่ละลายไปยังภูมิภาคอื่นของโลก จึงอาจเป็นที่มาที่ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นสาเหตุทำให้ประเทศไทยมีอากาศเย็นขึ้น

รู้จัก Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) ให้มากขึ้น

โดยปกติแล้ว Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) หรือลมวนขั้วโลกนั้น เป็นกระแสลมที่มีความรุนแรง มีบทบาทในการเก็บรักษาลมเย็นไว้ที่ภูมิภาคขั้วโลกเหนือ เพื่อไม่ให้ความร้อนจากภายนอกเข้ามา เสมือนเป็นอาณาเขตกั้นระหว่างอากาศเย็นเยือกแข็งของขั้วโลกเหนือ และอากาศอุ่นรอบละติจูดกลางไม่ให้เล็ดลอดไปหากัน แต่ถ้ามีเหตุให้สมดุลของระบบกระแสลมนี้เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น การลดความแข็งแกร่งของกระแสลม การเปลี่ยนทิศทางลม หรือทำให้กระแสลมแตกเป็นหลายสาย จะทำให้อุณหภูมิของภูมิภาคขั้วโลกเหนือสูงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่อื่นของโลกได้รับอิทธิพลจาก Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) ที่แปรปรวน ก็คือมีอุณหภูมิต่ำลงนั่นเอง

Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) กับภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์ Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) ขึ้นในพื้นที่อื่นๆ นอกบริเวณขั้วโลกเหนือ และพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา และมีความเป็นไปได้ที่จะมีผลกระทบต่อเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้บริเวณขั้วโลกเหนือมีอากาศอุ่นขึ้นและยิ่งทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงมากขึ้น เช่น ฤดูหนาวสั้นลง เกิดพายุถี่และมีความรุนแรงขึ้น

...

ขณะเดียวกันการเกิด Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) จะไม่ได้อยู่แค่ในขั้วโลกเหนือเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบแก่โลกทั้งใบ เพราะขั้วโลกเหนือทำหน้าที่เสมือนเครื่องปรับอากาศของโลก คอยรักษาความเย็นและสมดุลของสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งใบไว้ น้ำแข็งสีขาวของขั้วโลกเหนือทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนแสงอาทิตย์และความร้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศ เมื่อสภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกและน้ำทะเลสูงขึ้น เมื่อน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายแทนที่จะสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไป แต่ยิ่งดูดซับไว้ด้วยสีเข้มของมหาสมุทร ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ลดลง และน้ำแข็งขั้วโลกเหลือน้อยลงเรื่อยๆ

Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

แม้ว่าหลายคนอาจจะชอบที่อากาศเย็นขึ้น ทำให้ไม่ต้องทนทรมานกับอากาศร้อนอบอ้าวเหมือนที่ผ่านมา และอาจมองว่า Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) เป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วอากาศที่เย็นลงอย่างรวดเร็วนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งมนุษย์และสัตว์

ย้อนไปในปี 2562 สหรัฐอเมริกาได้เจอผลกระทบจาก Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) ส่งผลให้หลายพื้นที่มีอุณหภูมิติดลบกว่า 20 องศาเซลเซียส บางพื้นที่มีอุณหภูมิลดต่ำลงไปอยู่ที่ -53 องศาเซลเซียส และยังพบว่าที่เมืองชิคาโกมีสภาพอากาศที่หนาวกว่าทวีปขั้วโลกใต้ จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายรัฐให้งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง และให้หลีกเลี่ยงการหายใจลึก และให้พูดน้อยๆ เวลาออกนอกอาคาร

ส่วนทางทวีปยุโรปต้องพบกับพายุหิมะ ที่อังกฤษเที่ยวบินหลายเที่ยวต้องถูกยกเลิก เพราะไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ ส่วนเบลเยียม เยอรมนี และรัสเซีย หลายพื้นที่ของประเทศก็ถูกปกคลุมไปด้วยสีขาวจากหิมะเช่นกัน

ดังนั้นการเกิด Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) จึงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีแต่อย่างใด และยังเป็นการสะท้อนวิกฤติของภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของโลกแปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปอย่างน่าเป็นห่วง

กรมอุตุฯ ชี้แจง ไม่ใช่ Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์)

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาได้ทำการชี้แจงถึงสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิในประเทศไทยลดลงในเดือนเมษายน 2565 ว่าไม่ได้มาจาก Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) ตามที่เข้าใจกัน แต่เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน (กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน วันที่ 2 มี.ค. 2565) ซึ่งโดยทั่วไปอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศร้อนถึงร้อนจัดในบางวัน และมักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ส่วนความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าวแผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ หากมวลอากาศเย็นดังกล่าวมีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรกๆ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง และมีลมแรง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ 2-3 วันเท่านั้น

ส่วนปรากฏการณ์ Polar Vortex (โพลาร์ วอร์เท็กซ์) มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เนื่องจากกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาหิมาลัยกีดขวางทางลม ทำให้กระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป ดังนั้นจึงทำให้การพัดพาความหนาวเย็นจากขั้วโลกแบบที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา มาเกิดขึ้นที่ไทยได้ค่อนข้างยาก

...

อ้างอิงข้อมูล: Greenpeace, กรมอุตุนิยมวิทยา