แม้ว่าโรคไข้เลือดออกจะหยุดการระบาดไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 เข้ามาแทนที่ ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน ไม่มาทำกิจกรรมรวมกัน ทำให้ขยะในที่ชุมชนลดลง คนดูแลบ้านมากขึ้น แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจึงลดลงตามไปด้วย แต่ในปี 2565 นี้ ที่ผู้คนเริ่มกลับมารวมตัวกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่ลดลง เป็นเหตุให้โรคไข้เลือดออกกลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งมีรายงานจากกรมควบคุมโรคว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกจำนวน 2 ราย และมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเกือบ 200 ราย ดังนั้นประชาชนจึงควรเฝ้าระวังสังเกตอาการและป้องกันตนเองเบื้องต้นดังนี้

ภาพกราฟิกโดย Chonticha Pinijrob
ภาพกราฟิกโดย Chonticha Pinijrob

อาการของโรคไข้เลือดออก

  • มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน และมีอาการไข้สูงตลอดทั้งวันต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 2-7 วัน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง
  • อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
  • ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
  • มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องและเบื่ออาหาร

...

อาการของไข้เลือดออกที่ต้องเฝ้าระวัง

  • หลังจากมีไข้สูงต่อเนื่องแล้วลดลง ควรระวังภาวะช็อกที่ทำให้เสียชีวิตได้
  • หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน แม้จะเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้แล้วก็ไม่ลดลง มีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออก
  • หากพบอาการเฝ้าระวังควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว หากพบว่ามีอาการที่เข้าข่ายว่าอาจเป็นไข้เลือดออกควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้องและรวดเร็ว หรือหากพบผู้ป่วยที่มีอาการต้องสงสัย ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน เพื่อประเมินอาการและเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจ โดยสามารถตรวจด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็ว NS1 และแอนติบอดี (antigen-antibody test kit) ก็จะคัดกรองโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นได้เช่นกัน

สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) หากมีลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก หรือมีอาการสงสัย สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ตามสิทธิเพื่อพบแพทย์และทำการรักษาตามขั้นตอน

วิธีป้องกันไข้เลือดออก

กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ต้นเหตุของการระบาดไข้เลือดออก
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ต้นเหตุของการระบาดไข้เลือดออก

กรมควบคุมโรคได้ขอความร่วมมือประชาชนในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก ด้วย 4 วิธี ดังนี้

  1. เก็บกวาดบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะทุกชนิดบริเวณรอบบ้าน ทิ้งในถุงดำ มัดปิดปากถุงแล้วนำไปทิ้งในถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงวางไข่เพาะพันธุ์ได้
  3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็กๆ เช่น ถ้วยรองขาตู้ หรือแจกันทุกสัปดาห์
  4. ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ หรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ เช่น อ่างเลี้ยงไม้น้ำ

ซึ่งการป้องกันด้วยการกำจัดต้นตอของแหล่งระบาด คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด.