การกัดของแมงมุมยักษ์ที่รู้จักในชื่อคิง บาบูน (king baboon) ซึ่งดูเหมือนทารันทูลาและอาศัยอยู่ในแทนซาเนียและเคนยาเป็นหลัก แม้ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ใครถูกมันกัดก็จะเจ็บปวดอย่างมาก ทำให้นักวิจัยพยายามค้นหาสาเหตุว่าทำไมพิษแมงมุมคิง บาบูน ถึงทำให้เจ็บปวดนัก

ล่าสุดทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพอิลลาวาร์รา, สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และสถาบันวิจัยหัวใจวิกเตอร์ จาง ในออสเตรเลีย ได้วิเคราะห์พิษแมงมุมคิง บาบูน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pelinobius muticus และพบว่าเปปไทด์ Pm1a ในพิษของแมงมุมชนิดนี้นำไปสู่ความเจ็บปวดอย่างรุนแรงในร่างกาย เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบของ Pm1a ที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่และนำไปทดลองกับหนูที่โตเต็มวัย ด้วยการฉีดเข้าไปที่อุ้งเท้าของหนูเพื่อดูว่าจะตอบสนองต่อความเจ็บปวดแบบเดียวกับที่เกิดจากเปปไทด์จริงที่พบในพิษของแมงมุมหรือไม่ นักวิจัยได้วิเคราะห์เซลล์ประสาทที่ปรับความเจ็บปวด และวิเคราะห์ว่าเปปไทด์ทำหน้าที่อย่างไรกับทางผ่านของโซเดียม โปแตสเซียม และแคลเซียม ที่ควบคุมด้วยแรงดันไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับปรากฏ การณ์ของเซลล์ที่เรียกว่า การส่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาท ซึ่งจำเป็นสำหรับเซลล์ประสาทในการรับสัญญาณไฟฟ้าจากสิ่งเร้าภายนอก และในกรณีนี้ สิ่งเร้าภายนอกคือความเจ็บปวดจากพิษแมงมุม

ทั้งนี้ กระบวนการทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวกับความเจ็บปวดจากพิษแมงมุม อาจนำไปสู่การพัฒนาวิธีรักษาในมนุษย์ที่ทรมานจากพิษแมงมุม และได้เรียนรู้ว่าเปปไทด์เดี่ยวในพิษแมงมุมสามารถปรับทางผ่านโซเดียมไอออนจำนวนมากจนทำให้เจ็บปวดได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการและประสิทธิภาพของพิษแมงมุมได้ดีขึ้น.