จากการเสียชีวิตของแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ถูกบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตระหว่างเดินข้ามทางม้าลาย ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามว่าเรามีทางม้าลายไปเพื่ออะไร หากการข้ามทางม้าลายยังไม่ปลอดภัย

ซึ่งกรณีของหมอกระต่ายไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุแก่ผู้ที่ข้ามทางม้าลายจนถึงแก่ชีวิตจำนวนไม่น้อย แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยถูกแก้อย่างเป็นรูปธรรมเลยสักครั้ง ทั้งที่ประเทศไทยได้มีกฎหมายเกี่ยวกับทางม้าลาย โดยออกเป็นพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ระบุถึงทางม้าลายไว้หลายมาตรา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

มาตรา 22 - ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏข้างหน้า

- (4) สัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป หรือสัญญาณ จราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป ให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ และต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง "และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน"

...

หมายความว่า คนขับรถที่ต้องการเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ต้องเลี้ยวด้วยความระมัดระวัง หากมีคนเดินข้ามถนนต้องหยุดรถให้คนเดินข้ามก่อน

มาตรา 46 - ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นในกรณีต่อไปนี้

- (2) "ภายในระยะสามสิบเมตรก่อนถึงทางข้าม" ทางร่วมทางแยก วงเวียนหรือเกาะที่สร้างไว้ หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ

หมายถึง เมื่อเห็นทางม้าลายข้างหน้า ห้ามแซงเด็ดขาดในระยะ 30 เมตร

มาตรา 57 - ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ

- (4) ในทางข้าม หรือในระยะสามเมตรจากทางข้าม

หมายถึง ห้ามจอดรถทับทางม้าลาย โดยนับจากเส้นไปก่อนและหลัง 3 เมตร เช่นเดียวกับเส้นเหลืองทแยง

มาตรา 70 - ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ

หมายถึง เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง

มาตรา 104 - ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้ามห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม

หมายถึง ผู้ที่ต้องการข้ามถนน หากมีทางม้าลายหรือสะพานลอยในระยะ 100 เมตร ให้ข้ามตรงทางม้าลายหรือสะพานลอยเท่านั้น หากข้ามบริเวณอื่นจะโดนปรับ

มาตรา 105 - คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามที่มีไฟสัญญาณจราจรควบคุมคนเดินเท้า ให้ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรที่ปรากฏต่อหน้า ดังต่อไปนี้

1. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดง ไม่ว่าจะมีรูปหรือข้อความเป็นการห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าหยุดรออยู่บนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย เว้นแต่ทางใดที่ไม่มีทางเท้า ให้หยุดรอบนไหล่ทางหรือขอบทาง

2. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียว ไม่ว่าจะมีรูปหรือข้อความเป็นการอนุญาตให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้

3. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวกะพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุดรอบนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว

ในมาตรานี้ ก็ให้คนเดินถนนที่ข้ามทางม้าลายตรงจุดที่มีสัญญาณไฟ เคารพสัญญาณอย่างเคร่งครัด ถ้าไฟแดงขึ้นก็ห้ามข้าม ข้ามได้เฉพาะช่วงไฟเขียว และถ้าไฟเขียวกะพริบแล้วตัวยังอยู่บนทางเท้าก็ห้ามข้าม ส่วนคนที่เดินลงไปบนถนนแล้วก็ให้รีบข้ามด้วยความรวดเร็ว

การออกกฎหมายจราจรดังกล่าวนี้เพื่อบังคับใช้ทั้งคนขับรถยนต์และขี่มอเตอร์ไซค์รวมถึงคนข้ามถนน ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งนอกจากความระมัดระวังแล้วผู้ใช้ถนนทุกคนก็ต้องมีน้ำใจต่อกันเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินด้วย

นอกจากกฎหมายจราจรแล้ว ทางสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน ได้มีข้อแนะนำสำหรับการเดินถนน และการข้ามถนนที่ถูกวิธี ไว้ดังนี้

...

การเดินถนน

1. ถนนที่มีทางเท้าจัดไว้ ให้เดินบนทางเท้าและอย่าเดินใกล้ทางรถ โดยหันหลังให้รถที่กำลังแล่นมาก่อนที่จะก้าวไปในทางรถต้องมองซ้าย-ขวา ก่อนเสมอ

2. ถนนที่ไม่มีทางเท้า ให้เดินชิดริมทางขวาของถนน อย่าเดินคู่กัน ให้เดินเรียงเดี่ยวตามกันไป

3. ถ้าจูงเด็กให้เด็กเดินด้านในและจับมือเด็กไว้ให้มั่น เพื่อป้องกัน เด็กวิ่งออกไปในทางรถ

4. การเดินถนนในที่มืด ควรสวมเสื้อขาว และถ้าถือไฟฉายส่องติดมือ ไปด้วยก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

5. แถวหรือขบวนทหาร ตำรวจ ลูกเสือ หรือนักเรียนที่มีผู้บังคับบัญชา ควบคุมเดินอย่างเป็นระเบียบ จะเดินทางรถยนต์ก็ได้ โดยชิดทางรถ ด้านขวาหรือด้านซ้ายตามความจำเป็น

การข้ามถนน

1. ก่อนข้ามถนนทุกครั้ง ต้องหยุดเดินที่ขอบถนน มองขวาซ้าย แล้วมองขวาให้แน่ใจว่าไม่มีรถกำลังแล่นมา จึงข้ามได้ แล้วให้รีบข้าม ถนนไปเป็นเส้นตรง และให้เดินอย่างรวดเร็ว อย่าวิ่งข้ามถนน

2. ถ้าบริเวณที่จะข้ามถนนมีช่องข้ามมาทาง (ทางม้าลาย) ต้องข้ามตรง ช่องทางข้ามปลอดภัยที่สุด

3. อย่าข้ามถนนโดยออกจากที่กำบังตัว เช่น ออกจากซอยรถที่จอดอยู่ หรือท้ายรถประจำทาง เพราะจะเกิดอันตรายขึ้นได้

4. การข้ามถนนที่รถเดินทางเดียว ต้องหยุดให้แน่ใจเสียก่อนว่ารถ แล่นมาจากไหนและมีความปลอดภัยพอหรือยังจึงข้ามได้

5. ถนนที่มีเกาะกลางถนนต้องข้ามทีละครึ่งถนน โดยข้ามครั้งแรก ไปพักที่เกาะกลางถนนเสียก่อน จึงข้ามในครึ่งหลังต่อไป

6. ในเวลากลางคืนควรไปหาที่ข้ามที่มีแสงสว่าง

ช่องข้ามทางหรือทางม้าลาย

1. คนเดินเท้าที่กำลังเดินข้ามถนนในทางม้าลายมีสิทธิไปก่อนรถ เพราะตามกฎหมายต้องหยุดให้คนข้ามถนนในทางข้ามทาง แต่จะต้องระวังให้โอกาสแก่รถที่ชะลอความเร็วและหยุดไม่ทัน ก่อนที่จะก้าวลงไป ในถนนยิ่งเวลาฝนตกถนนลื่นต้องระวังให้มาก

...

2. ถึงแม้ว่าคนขับรถจะหยุดให้ข้าม ต้องข้ามด้วยความระมัดระวัง มองขวา-ซ้าย ตลอดเวลา เพราะอาจมีผู้ขับขี่บ้าบิ่นแซงรถที่หยุดรถอยู่ขึ้นมาได้ และการข้ามถนนต้องรวดเร็ว อย่าเดินลอยชาย

3. การข้ามถนนในช่องทางข้ามที่บริเวณทางแยก ให้ระวังรถที่จะเลี้ยว เข้ามาหาตัวท่านด้วย

4. ถ้ามีเกาะกลางถนนทำไว้ที่ทางม้าลาย ให้ข้ามถนนไปทีละครึ่งถนน โดยพักรออยู่บนเกาะ มองขวา-ซ้าย ปลอดภัยแล้วจึงข้ามไป ดังนั้น ถ้าท่านกำลังข้ามถนนอยู่ ถ้าเห็นรูปคนสีเขียวกะพริบขึ้นสัญญาณไฟ ก็ให้รีบข้ามถนนให้พ้นไป โดยเร็วข้อสำคัญอย่าเริ่มก้าวข้ามถนน เมื่อเห็นรูปคนสีเขียวกะพริบที่สัญญาณไฟเป็นอันขาด เพราะจะข้ามถนนไป ไม่ตลอด และอาจเกิดอุบัติเหตุได้

ทั้งนี้ข้อมูลสถิติจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนได้รายงานข้อมูลในวันที่ 23 มกราคม 2565 ว่าในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตสะสม 1,011 ราย บาดเจ็บสะสม 59,289 ราย โดยในระหว่างวันที่ 16 - 22 มกราคม 2565 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 289 ราย บาดเจ็บ 18,263 ราย ประเภทรถที่เกิดเหตุแบ่งเป็น มอเตอร์ไซค์ 238 ราย รถยนต์ 51 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตแบ่งเป็น ผู้ขับขี่ 228 ราย ผู้โดยสาร 42 ราย และคนเดินถนน 19 ราย

สุดท้ายนี้ เราขอแสดงความเสียใจแก่ผู้สูญเสียทุกราย และหวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้แก้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังและไม่ประมาท เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยในอนาคต.

...