เมื่อชีวิตติดกับดักการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาเกือบ 2 ปี แต่ทุกอย่างต้องดำเนินต่อไป การล็อกดาวน์ชีวิตอาจจะไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา เมื่อต้องใช้ชีวิตควบคู่ไปกับเชื้อโรคที่แพร่กระจายอย่างไม่รู้จุดจบ ผู้คนในสังคมจึงมีวิธีรับมือและออกแบบการใช้ชีวิตในยุควิถีชีวิตใหม่นี้หลากหลายแตกต่างกันไป

จูน–สาวิตรี
จูน–สาวิตรี

เริ่มจากสาวคนดัง จูน-สาวิตรี โรจนพฤกษ์ พิธีกรสาวสวย ผู้ยกการ์ดสร้างมาตรฐานชีวิตที่ระมัดระวังมาโดยตลอด การใช้ชีวิตที่ต้องอยู่กับโรคระบาดนี้จึงไม่จำเป็นต้องปรับมาก โดยเล่าว่า จูนใส่ใจเรื่องความสะอาดและเรื่องโรคต่างๆมาก่อนโควิดแล้ว เพราะหน้าที่การงานต้องใช้ตัวเป็นๆ เจ็บป่วย ตายไม่ได้ เลยจะไม่เจอคนที่ไม่สบายเป็นหวัด และเพื่อนๆทุกคนทราบว่าจะไม่กินของร่วมกับคนอื่น ตั้งแต่ก่อนโควิด เพราะฉะนั้นการแพร่ระบาดของโควิดไม่ได้ทำให้จูนมีความลำบากใจในการใช้ชีวิตมากขึ้นเลย แต่ในทางกลับกันกลับง่ายขึ้นด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านี้หลายคนมองว่าเป็นคนเรื่องมาก คนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้ แต่พอมีโควิดมันกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนทำ จูนเลยกลายเป็นคนปกติ

...

ในส่วนของผลกระทบที่ได้รับ จูน–สาวิตรี บอกว่า ถ้าพูดในแง่ของผลกระทบกับชีวิตมีแน่ๆ เพราะงานของจูนต้องใช้ตัวจริง งานจึงหายไปเกือบหมด ชีวิตเลยอยู่บ้าน แต่อยู่บ้านก็ไม่รู้สึกอะไร เราสามารถหากิจกรรมทำได้ทั้งทำอาหาร ทำขนม อ่านหนังสือ เก็บของ จูนเป็นคนไม่มองอนาคตไกล เลยไม่เครียดเท่าไหร่ “การที่รัฐบาลเปิดให้ไปไหนได้ จูนจะดูว่าไปแล้วไม่อันตรายต่อเราและคนรอบข้าง เราก็ไปเที่ยว ซึ่งจูนก็เพิ่งไปต่างประเทศมา แต่ถ้าเขาปิด ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องดิ้นปัดๆอะไร สิ่งที่จูนให้ความสำคัญมากคือ การใส่หน้ากากที่ถูกต้อง และอยากจะประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนใส่หน้ากาก ฉีดแอลกอฮอล์แบบถูกวิธี เช่น หน้ากากที่ใส่ เวลาถอดควรจับแค่ตรงหู มีหีบห่อบรรจุภัณฑ์เก็บให้มิดชิด ถ้าไปที่คนเยอะก็พยายามเปลี่ยนอัน ไม่ใช่ใส่หน้ากากแค่ใส่แล้ววางไปทั่ว หรือแอลกอฮอล์ฉีดที่มือจับ อยากให้ทุกคนระวังตัวแบบถูกต้อง ไม่ใช่ทำทั้งหมด แต่ทำผิดแล้วไม่ได้ผลอะไรเลยนะคะ”

ลิซ่า–อลิซาเบท
ลิซ่า–อลิซาเบท



สำหรับผู้บริหารสายพีอาร์ที่ต้องพบปะเจอะเจอคนมากหน้าหลายตา อย่าง ลิซ่า-อลิซาเบท วงศ์วาสิน กรรมการผู้จัดการ So Good Consulting ซึ่งผ่านประสบการณ์คนในครอบครัวติดโควิดมาแล้ว จึงออกแบบชีวิตวิถีใหม่ที่ยกการ์ดสุดแขน โดยบอกว่า การใช้ชีวิต ณ ตอนนี้ มีความระมัดระวังและมีสติมากขึ้น จากประสบการณ์ที่สามีเคยติดโควิด เดือนเมษายนปี 2564 ตอนนั้นวัคซีนยังไม่แพร่หลาย เขาไปรับเชื้อมาแล้วเชื้อลงปอดต้องอยู่ไอซียู 25 วัน อาการค่อนข้างหนัก แต่ก็หายในที่สุด ประสบการณ์ที่เราเจอทำให้เราระวังค่อนข้างถึงขั้นสูงสุด เพราะที่บ้านมีผู้ใหญ่อายุจะ 90 ปีและมีลูกด้วย เราออกไปทำงานข้างนอกจึงเหมือนจะไปรบ คือจะใส่หน้ากาก 2 ชั้น จะพ่นจมูก พ่นคอก่อน ออกจากบ้านและกลับบ้าน พยายามใส่เสื้อแขนยาว อุปกรณ์พกพาประจำตัว มีทั้งแอลกอฮอล์แบบฟู้ดเกรด แอล กอฮอล์ที่ฉีดทั่วไป แอลกอฮอล์ที่ทำจากน้ำอิเล็กโทรไลต์ สามารถฉีดอาหาร ฉีดทุกอย่างได้ทั่วตัว เครื่องกรองอากาศแบบห้อยคอ ส่วนในรถก็มีโต๊ะอุปกรณ์กินข้าว รวมทั้งห้องน้ำพกพาเวลาที่ไปงานไหนไกลๆ และเจอคนเยอะๆ

...

“ชีวิตปรับเปลี่ยนไปเยอะค่ะ เราเลือกมากขึ้น จากที่เป็นคนชอบไปไหนมาไหนไม่ระวังเท่าไหร่ ไปกับคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ที่ไหนก็ได้ ตอนนี้ต้องดูก่อนไปกับใคร ก่อนที่จะเจอกันต้อง ATK ก่อนนะ แล้วโชว์ผลกัน เพื่อกรองขั้นหนึ่งไว้ก่อน แล้วชอบไปร้านอาหารที่มีห้องส่วนตัวถ้าเป็นไปได้ ถ้าไม่มีก็จะพยายามไปในวันที่คนน้อย และขอโต๊ะที่หลบมุม ห่างจากคนอื่นหน่อย ไปทำงานข้างนอกที่มีคนเยอะ เราก็เตรียมข้าว เตรียมน้ำในรถ จะไม่อ้าปากข้างนอก จะทานข้าวในรถ และมีห้องน้ำพกพาสำหรับผู้หญิง พยายามเลี่ยงทุกครั้ง เพราะมีคนใกล้ตัวเคยติดแล้ว ฉะนั้นอะไรที่เราสามารถทำได้ อยู่ในวิสัยที่ไม่ได้ ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเราสามารถทำได้ โดยที่เราเองก็ไม่ได้เดือดร้อน ทำอย่างนี้ แล้วเราสบายใจ ไม่เสียงาน แล้วเราไม่เอาตัวเราไปเสี่ยง ไม่เอาครอบครัว หรือคนที่เรารักไปเสี่ยงด้วยเช่นกัน ทำให้เราสบายใจในการออกไปข้างนอก และทำให้เรากลับมาบ้านด้วยความสบายใจ คงทำไปแบบนี้เรื่อยๆ จนวันนี้โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือสามารถกินยารักษาเองได้ ชีวิตตอนนี้เลยมีสติ และเห็นคุณค่ากับสิ่งที่เราเคยเป็นอยู่มากขึ้น” พีอาร์สาวบอกถึงชีวิตที่ต้องอยู่กับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

...

ฟิล์ม–อัญจิฎา
ฟิล์ม–อัญจิฎา

ด้านเวิร์กกิ้งวูแมนอีกคน ฟิล์ม–อัญจิฎา กรรณสูต ผู้บริหารรุ่นใหม่บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมตรามะลิ บอกถึงวิถีชีวิตแนวใหม่ว่า ชีวิตเปลี่ยนเพราะอยู่บ้านมากขึ้น การแพร่ระบาดของโควิดทำให้เราต้องปรับตัว ที่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ความยุ่งยากมีมากขึ้น เพราะต้องใส่ทั้งหน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์ แต่ตอนนี้กลายเป็นความเคยชินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว “โรคนี้ทำให้เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทำให้เราต้องเป็นคนค้นหาข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโรคภัยที่เราต้องรู้ทันโรค การใช้ชีวิตต้องมีความระมัดระวัง ไม่ประมาทค่ะ”.