สายสวนที่ใช้สอดใส่เข้าไปในร่างกายถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งต่อการผ่าตัด ถูกนำไปใช้ในการกำจัดลิ่มเลือด จัดการส่งยาไปยังเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การใช้สายสวนก็มีข้อจำกัด เช่น ศัลยแพทย์ต้องใช้เครื่องมือขนาดเล็กจากภายนอกในสภาพแวดล้อม ที่ซับซ้อนหรือใช้หุ่นยนต์ช่วย ดังนั้น การจะย่อขนาดและการใช้โครงสร้างที่ยืดหยุ่น จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับร่างกายเพื่อการใช้งานที่อ่อนโยนโดยเฉพาะในการผ่าตัด อีกทั้งยังเป็นการยากที่จะรวมเซ็นเซอร์และหน้าที่การทำงานเพิ่มเติมเข้ากับสายสวนขนาดเล็ก

ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการขนถ่ายวัสดุแบบนาโนอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเคมนิทซ์ ในเยอรมนี ได้นำเสนอเครื่องมือชีวการแพทย์รูปแบบใหม่ จากการใช้เทคโนโลยีไมโครชิปมาสร้างสายสวนอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Microcatheter มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กเพียง 0.1 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่หน้าที่การทำงานระดับอัจฉริยะ เนื่องจากการรวมเซ็นเซอร์แม่เหล็กสำหรับการนำทางและการจัดตำแหน่งในสายสวนที่บางราวกับเส้นผมนี้ เป็นไปในแบบเดียวกับเข็มทิศ ดังนั้น การทำงานจะอาศัยสนามแม่เหล็กแบบอ่อนๆ แทนที่จะเป็นรังสีที่เป็นอันตราย ทำให้ใช้เครื่องมือจิ๋วนี้ได้กับเนื้อเยื่อส่วนลึก หรือภายในกระดูกกะโหลกศีรษะที่มีความหนาแน่นสูง

ทั้งนี้ นักวิจัยเล็งเป้าหมายถึงความเป็นไปได้ในการจะนำ Microcatheter ไปช่วยในการรักษาภาวะหลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดผิดปกติ หรือการผ่าตัดตับอ่อนที่จะบุกรุกคุกคามในร่างกายน้อยที่สุดในอนาคต.