มีข้อสังเกตว่าซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (Sauropod) ไม่มีเบาะแสบ่งชี้ว่าไดโนเสาร์กลุ่มนี้เกิดขึ้นหรืออาศัยอยู่เหนือเส้นขนานที่ 50 องศาเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมส่วนใหญ่ของแคนาดา รัสเซีย ยุโรปเหนือ และสหราชอาณาจักร หรือต่ำกว่า 65 องศาทางใต้ ซึ่งครอบ คลุมทวีปแอนตาร์กติกา ทว่ากลับมีหลักฐานมากมายของไดโนเสาร์กลุ่มเธอโรพอด (Theropods) และ ออร์นิธิสเชียน (Ornithischians) คือพวกที่มีกระดูกสะโพกคล้ายสัตว์ปีก ที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 50 องศาเหนือ
ล่าสุดทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยบิโกในสเปนเฉลยแล้วว่าทำไมฟอสซิลซอโรพอดจึงพบได้ในละติจูดที่ต่ำกว่า เมื่อวิเคราะห์ซากฟอสซิลจากมหายุคมีโซโซอิกที่กินเวลา 230-66 ล้านปีก่อน ฟอสซิลที่ศึกษานำมาจากไดโนเสาร์ 3 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกคือซอโรพอด ที่มีบรอนโตซอรัส (Bronto saurus) และไดพลอโดคัส (Diplodocus) กลุ่มที่ 2 คือเธอโรพอด อย่างเวโลซีแรพเตอร์ (Velociraptors) และไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ส่วนกลุ่มที่ 3 คือออร์นิธิสเชียน อย่างไทรเซอราทอปส์ (Triceratops) ทีมเผยว่าสรีรวิทยาของซอโรพอดไม่อาจเจริญเติบโตได้ในพื้นที่อันหนาวเย็น ขณะที่ไดโนเสาร์กลุ่มอื่นเอาชนะได้ เธอโรพอดและออร์นิธิสเชียนบางชนิดมีขนที่ช่วยให้พวกมันรักษาความอบอุ่นของร่างกาย นั่นหมายถึงพวกมันอาจสร้างความร้อนในร่างกายขึ้นมาเอง ทว่าซอโรพอดยังไม่พบหลักฐานในรูปแบบนี้
เมื่อรวมข้อมูลจากฟอสซิลเข้ากับข้อมูลสภาพอากาศและการเคลื่อนตัวของทวีปทั่วโลก นักบรรพชีวินวิทยาสรุปว่าซอโรพอดถูกจำกัดให้อาศัยในเขตร้อนและแห้งกว่าไดโนเสาร์อื่น ๆ ขนาดที่ใหญ่โตของพวกมันบ่งบอกว่าสรีรวิทยาอาจมีความพิเศษเฉพาะตัว.
...
(ภาพประกอบ Credit : Current Biology)