คำควบกล้ำ หรืออักษรควบ ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในภาษาไทย เพราะช่วยเพิ่มเสียงและเพิ่มความหมายของคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น คำควบกล้ำคืออะไร มีกี่แบบ และใช้อย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้

รู้จักความหมายของ "คำควบกล้ำ"

คำควบกล้ำ คือ พยัญชนะสองตัวที่เขียนเรียงกัน และใช้สระเดียวกัน อยู่ในตำแหน่งต้นพยางค์ เมื่ออ่านออกเสียง จะต้องอ่านควบเป็นพยางค์เดียวกัน โดยเสียงวรรณยุกต์ก็จะผันตามเสียงพยัญชนะตัวหน้า เช่น กล้า (อักษรควบคือ กล-), ปลอดโปร่ง (อักษรควบคือ ปล- และ ปร-) เป็นต้น 

"คำควบกล้ำ" มีอะไรบ้าง?

คำควบกล้ำในภาษาไทย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ คำควบกล้ำแท้ หรือคำควบแท้ ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คำและการออกเสียง ดังนี้

1. คำควบกล้ำแท้ หรือคำควบแท้

ข้อสังเกตง่ายๆ เพื่อพิจารณาว่าคำใดในภาษาไทยเป็นคำควบกล้ำแท้ ให้ดูว่าพยัญชนะ ร, ล, ว ควบกับพยัญชนะต้นตัวหน้า และประสมสระตัวเดียวกันหรือไม่ โดยเมื่ออ่านออกเสียง ก็จะต้องออกเสียงพยัญชนะทั้งสองตัวควบพร้อมกัน ดังนี้

  • คำควบแท้ที่พยัญชนะต้นควบกับ ร : ยกตัวอย่างเช่น กราบ, เกรง, ขรุขระ, ครัว, ครอบครัว, เคร่งครัด, ครื้นเครง, ปรังปรุง, โปรดปราน, พร้อม เป็นต้น
  • คำควบแท้ที่พยัญชนะต้นควบกับ ล : ยกตัวอย่างเช่น ไกล, เกลี้ยกล่อม, ขลัง, ขลาด, โคลงเคลง, เพลิดเพลิน, เพลิง, ปลวก, แปลก เป็นต้น
  • คำควบแท้ที่พยัญชนะต้นควบกับ ว : ยกตัวอย่างเช่น กวาด, กว้างขวาง, ขวาน, ขวัญ, ไขว่คว้า, ขวนขวาย, ควาย, แคว้น, ควัน, เคว้งคว้าง เป็นต้น

...

ข้อควรระวังในการจำคำควบกล้ำ : คำที่มีพยัญชนะ ว บางคำก็ไม่ใช่คำควบกล้ำแท้ แต่เป็นพยัญชนะ ว ที่แทนเสียงสระอัว เช่น สวย, ควร เป็นต้น

2. คำควบกล้ำไม่แท้ หรือคำควบไม่แท้

ให้สังเกต พยัญชนะ ร ที่เมื่อควบกับพยัญชนะตัวหน้า และประสมสระตัวเดียวกัน แต่เวลาอ่านจะไม่ออกเสียง พยัญชนะ ร โดยจะอ่านเป็นเสียงอื่นแทน ดังนี้

  • คำควบไม่แท้ที่มี ซ, ศ, ส, เป็นพยัญชนะตัวหน้า ร : ให้อ่านออกเสียงเฉพาะพยัญชนะตัวหน้าเท่านั้น เช่น จริง (อ่านว่า จิง), ไซร้ (อ่านว่า ไซ้), เศร้า (อ่านว่า เส้า), เสริม (อ่านว่า เสิม), ศรัทธา (อ่านว่า สัด-ทา) เป็นต้น
  • คำควบไม่แท้ที่มี ท เป็นพยัญชนะตัวหน้า ร : ให้อ่านออกเสียง ทร เป็นเสียง ซ แทน เช่น ทรง (อ่านว่า ซง), ทราย (อ่านว่า ซาย), ทรัพย์ (อ่านว่า ซับ), ทราบ (อ่านว่า ซาบ), โทรม (อ่านว่า โซม), พุทรา (อ่านว่า พุด-ซา) เป็นต้น

คำควบกล้ำที่ใช้ในภาษาไทยมีหลากหลายความหมาย ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมภาษาที่สำคัญของคนไทย หากเรารู้หลักการเขียนและวิธีการออกเสียงแบบง่ายๆ ก็จะช่วยให้นำคำควบกล้ำแท้ และคำควบกล้ำไม่แท้ ไปใช้เขียนหรือพูดสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ถูกต้องชัดเจนมากยิ่งขึ้น