การตั้งเป้าส่งมนุษย์เดินทางไปดาวอังคาร แม้จะดูทะเยอทะยาน แต่โครงการนี้ก็เป็นรูปเป็นร่างคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เป็นที่รู้กันว่ามนุษย์ธรรมดาๆไม่สามารถอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์สีแดงได้หากไร้เครื่องป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบรรยากาศของดาวอังคารประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบทั้งหมด
ล่าสุดทีมวิศวกรจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แห่งมหาวิทยาลัยซินซินเนติ ในสหรัฐอเมริกา คิดแบบข้ามช็อตโดยกำลังพัฒนาวิธีใหม่ในการแปลงก๊าซเรือนกระจกให้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนำนักบินอวกาศกลับโลกจากดาวอังคาร โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาคาร์บอนในเครื่องปฏิกรณ์เพื่อแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นก๊าซมีเทน รู้จักกันในชื่อ “ปฏิกิริยาซาบาเทียร์” ซึ่งเป็นกระบวนการที่สถานีอวกาศนานาชาติใช้ขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศที่นักบินอวกาศหายใจเข้าไป และใช้สร้างเชื้อเพลิงจรวดเพื่อให้สถานีอวกาศอยู่ในวงโคจรสูง วิธีนี้จะช่วยให้นักบินอวกาศประหยัดเชื้อเพลิงที่จำเป็นได้ครึ่งหนึ่งสำหรับการเดินทางกลับโลก เปรียบได้ว่าพวกเขามีปั๊มน้ำมันบนดาวอังคาร เพราะสามารถสูบคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอย่างเหลือเฟือผ่านเครื่องปฏิกรณ์และผลิตก๊าซมีเทนสำหรับยานอวกาศได้อย่างง่ายดาย
ทีมวิศวกรเผยว่า กำลังทดลองกับตัวเร่งปฏิกิริยาต่างๆ เช่น หมุดควอนตัมกราฟีน (graphene quantum dots) ซึ่งเป็นชั้นของคาร์บอนที่มีขนาดใหญ่เพียงนาโนเมตร ทำให้เพิ่มผลผลิตของก๊าซมีเทนและเอทิลีนได้ ทั้งนี้ การสังเคราะห์เชื้อเพลิงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะยิ่งมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เมื่อใช้ควบคู่กับพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม.
(ภาพประกอบ Credit : NASA/JPL-Calteoh)
...