หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ปรับมาตรการโดยอนุญาตให้ร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการนั่งกินในร้านได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นมา ก็ดูเหมือนว่าบรรยากาศการใช้ชีวิตวิถีใหม่ในยุคโควิด-19 ของผู้คนจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
แต่แม้ว่า ศบค.จะผ่อนปรน ไฟเขียวให้มีการนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ แต่ก็ยังคงคุมเข้มไม่ใช่เปิดเต็มที่ 100% แบบที่เคยเป็นมาในอดีต
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า มาตรการดังกล่าวออก ภายใต้ข้อกำหนด “ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม” ออกความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 32 ยังคงระบุว่า ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ปฏิบัติเข้มตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04af9iFE1wvkPe7zWboBAwdoK8pWr15Z.jpg)
“ในการขอความร่วมมือมีรายละเอียดอยู่พอสมควร โดยขอให้ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่เปิดบริการยึดถือและปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยยังต้องคุมเข้มเปิดบริการได้ไม่เกินสองทุ่ม หรือ 20.00 น. ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และจำกัดจำนวนผู้นั่งกินในร้าน” อธิบดีกรมอนามัยให้รายละเอียด
...
นพ.สุวรรณชัย ยังบอกด้วยว่า หากร้านอาหารเป็นห้องปรับอากาศสามารถนั่งได้เพียง 50% ของจำนวนที่นั่งปกติ ส่วนร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่ที่มีอากาศระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น สามารถนั่งได้ 75% ของจำนวนที่นั่งปกติ ส่วนร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้ยึดตามข้อกำหนดเช่นเดียวกัน
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04af9iFE1wvkPe7zWcKL9T55JQ7g84fi.jpg)
“มาตรการคลายล็อกผ่อนปรนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่ทั้งหมดยังคงคุมเข้ม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวและว่า การคุมเข้มที่ว่า คือยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องความเสี่ยงและยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำความสะอาดโต๊ะทันทีหลังใช้บริการ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำทุก 1-2 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังต้องจัดอุปกรณ์กินอาหารเฉพาะบุคคล กรณีที่ต้องรับประทานอาหารในหม้อ หรือภาชนะเดียวกัน ต้องจัดอุปกรณ์ตักอาหารเฉพาะบุคคลเช่นเดียวกัน และต้องไม่ใช้ช้อนกลางร่วมกัน
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04af9iFE1wvkPe7zWcP57szzgq9SPY0k.jpg)
“สำหรับคอสลัดบาร์ หมูกระทะ หรือร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ยังไม่อนุญาตให้เปิดให้บริการเพราะจะทำให้คนไปรวมกันหนาแน่น เสี่ยงแพร่เชื้อได้ง่าย” คุณหมอสุวรรณชัยบอกและว่า ในมาตรการใหม่นี้ ร้านอาหารที่เปิดให้บริการนั่งกินในร้านได้ ต้องจัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำทุกโต๊ะ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและโต๊ะรับประทานอาหาร 1-2 เมตร หากมีพื้นที่จำกัดมีระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น กรณีพื้นที่มีเครื่องปรับอากาศ เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ 2 เมตร และไม่นั่งตรงข้ามกัน เปิดประตู หน้าต่างอย่างน้อย 30 นาที ก่อนเปิดและปิดระบบปรับอากาศ มีการระบายอากาศที่เหมาะสมต่อจำนวนคน สำหรับพื้นที่ปรับอากาศให้เปิดระบายอากาศในพื้นที่กินอาหารทุก 1 ชั่วโมง ส่วนห้องน้ำควรมีระบบระบายอากาศที่ดี
อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลด้วยว่า ในเดือนกันยายน 2564 นี้ ผู้ประกอบการสามารถเปิดร้านตามปกติ ไม่ต้องตรวจ ATK เป็นประจำ แต่ให้ยึดมาตรการ DMHTT อย่างเข้มข้น ส่วนพนักงานไม่ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ให้เตรียมการและเตรียมความพร้อมไว้ก่อน ภายในเดือนกันยายนนี้ สำหรับการจะบังคับใช้ในอนาคตตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
...
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04af9iFE1wvkPe7zWbsoNXqGBwVq6DpN.jpg)
ส่วนพนักงานในร้านในฐานะผู้ให้บริการ ยังจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ โดยให้พนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดสหรือมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนไม่เกิน 3 เดือน คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด พร้อมจัดหา ATK ให้พนักงาน และตรวจ ATK ทุก 7 วัน มีผู้รับผิดชอบกำกับติดตามพนักงานทุกคน
งดการรวมกลุ่มหรือกินอาหารร่วมกัน ส่วนผู้รับบริการ ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด ร้านที่มีเครื่องปรับ อากาศต้องมี COVID free pass ก่อนเข้าใช้บริการ สำหรับร้านอาหารแต่ละจังหวัดต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกำหนดของจังหวัดด้วย
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคนรอดจากการติดเชื้อ เศรษฐกิจเดินหน้าได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน อธิบดีกรมอนามัยย้ำ.