สถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท โรงงาน หรือองค์กร ที่หลายคนอาจมองว่ามีกลไกการทำงานแบบ Hard Ware มากกว่า Soft Ware ซึ่งหมายถึงทรัพยากรมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดภาวะที่เรียกว่า Disrupted economy ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงาน ตั้งแต่ระดับบังคับบัญชา ระดับปฏิบัติการ สหภาพแรงงาน รวมทั้งผลกระทบอย่างมากต่อตัวลูกจ้างหรือพนักงาน ที่ต้องปรับตัวทั้งจากการมีเครื่องจักรเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตมากขึ้น การต้องทำงานในบริบทใหม่ที่เรียกว่า New Normal
นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวัยแรงงาน โดยจำนวนไม่น้อยที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งต่างก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การ
แพร่ระบาดโควิด-19 กันแทบทั้งนั้น กรมสุขภาพจิต เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการดูแลจิตใจประชาชนกลุ่มนี้ จึงได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง วัคซีนใจในสถานประกอบการ และองค์กรขึ้น เพื่อใช้เป็นมาตรการในการดูแลจิตใจประชาชนที่อยู่ในระบบแรงงาน เป็นการให้ภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนแก่คนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
...
“เราได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการสื่อสารแนวทางการเสริมสร้างวัคซีนใจพร้อมทั้งวางแผนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วน โดยให้ศูนย์สุขภาพจิตทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศเป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานให้กับหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อมุ่งให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีและลดความสูญเสียจากปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มวัยแรงงานของประเทศไทย” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตให้ข้อมูล พร้อมกับบอกว่า ได้เริ่มต้นดำเนินการให้วัคซีนใจไปแล้วในหลายๆสถานประกอบการ พบว่ามีผลตอบรับที่ดีมาก
จักรกฤษณ์ พรหมสิทธิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด เล่าให้ฟังว่า ได้นำแนวคิดเรื่องวัคซีนใจในสถานประกอบการไปใช้ ภายใต้หลักคิด “สุขกาย สุขใจ ปลอดภัย ยุคโควิด–19” กำหนดเป้าหมายระยะ 3 ปี ไว้ว่า “ในปี 2566 พนักงานบริษัท ออโต้–อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) สามารถจัดการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว เพื่อการมีสุขภาพที่ดีและความปลอดภัยในการ ทำงาน พร้อมการเตรียมตัว ก่อนการเกษียณ โดยมีนโยบายบริษัทและหน่วยงานภาครัฐสนับสนุน
วัคซีนใจที่นำไปใช้ จักรกฤษณ์ เล่าว่า การทำงานเริ่มต้นจากการรับฟังอย่างเข้าใจ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงจากผู้ที่ประสบปัญหา ไม่ใช้การสั่งการแก้ไขปัญหาแบบ Top Down เน้นการทำจริง หาตัวจริงจากบุคคลจนกลายเป็นกลุ่มคน มีต้นแบบในการส่งต่อความรู้หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขยายผลเป็นชมรม โดยเน้นแนวทางหลักๆ 4 แนวทางคือ
1.สร้างองค์กรที่รู้สึกปลอดภัย (Safety) โดยกำหนดนโยบายการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกมาตรการรับมืออย่างเคร่งครัด เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าทำงาน การใส่หน้ากากอนามัย มีการรายงาน Timeline ทุกวัน ปรับเปลี่ยนประตูเป็นประตูอัตโนมัติ มีนโยบายปฏิบัติงานที่บ้าน Work from Home และรณรงค์ให้พนักงานฉีดวัคซีนและช่วยดำเนินการจัดหาวัคซีน รวมทั้งให้ความรู้ในการเตรียมตัวก่อนการฉีดวัคซีนให้แก่พนักงาน
2.สร้างองค์กรที่รู้สึกสงบ (Calm) ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 อย่างทั่วถึง เน้นการสื่อสารทุกช่องทาง ทั้งออนไลน์และวารสารของบริษัท มีการจัดทำ Line official สำหรับสื่อสารภายในองค์กร เพื่อความรวดเร็วและทันสถานการณ์, อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตโดยการประเมินสุขภาพจิตผ่าน Mental Health Check In และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพของพนักงาน
...
3.สร้างองค์กรที่รู้สึกมีความหวัง (Hope) โดยการให้ความรู้แก่พนักงานในการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อการวางแผนการเงินของครอบครัว, จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างกำลังใจและสร้างรายได้ เช่น เปิดตลาดออนไลน์ให้พนักงานมีรายได้เสริม, ส่งเสริมให้พนักงานทำกิจกรรมจิตอาสาในบริษัท เช่น การบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ การจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เป็นต้น
4.สร้างองค์กรที่เข้าใจและให้โอกาส (Care) มีนโยบายให้เบี้ยขยันตามปกติกรณีที่พนักงานป่วยด้วยโรคโควิด-19 และต้องรักษาตัวหรือต้องกักตัว, ส่งเสริมให้พนักงานทำกิจกรรมในรูปแบบชมรมต่างๆ มีกลุ่มเพื่อช่วยเพื่อน, ให้พนักงานดูแลใส่ใจซึ่งกันและกัน เช่น การให้กำลังใจผู้ติดเชื้อ และสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานให้กำลังใจผู้ป่วย พร้อมทั้งการจัดทำ Line official สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต และมีห้องให้คำปรึกษาแก่พนักงาน
นพ.จุมภฏ บอกว่า ตัวอย่างที่มีการดำเนินการโดยให้วัคซีนใจแก่พนักงาน พบว่า พนักงานสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว และมีการวางแผนการเงินได้ดีขึ้น มีแนวทางการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว สามารถหารายได้เสริมเพื่อประคับประคองการดำเนินชีวิตและเติมรายได้ในส่วนที่ขาดหายไป ขณะที่พนักงานที่มีภาวะเป็นโรคซึมเศร้า สามารถลดการใช้ยาจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติดีได้
...
“วัคซีนใจ เป็นวัคซีนที่ราคาถูกที่สุดในโลก ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสร้างโรงงาน หรือใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิต แต่ให้ภูมิคุ้มกันสูง ฉีดมากยิ่งมีภูมิคุ้มกันมาก ไม่มีผลข้างเคียง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่คุ้มค่าและยั่งยืนอย่างแท้จริง” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตทิ้งท้าย.