ในจำนวนซากซุปเปอร์โนวาที่นักดาราศาสตร์สนใจศึกษาก็คือ MSH 15-52 เป็นหนึ่งในซากซุปเปอร์โนวาที่อายุน้อยที่สุดในดาราจักรหรือกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา มีการประเมินว่าแสงจากการระเบิดของซุปเปอร์โนวาเดินทางมาถึงโลกเมื่อประมาณ 1,700 ปีก่อน

การระเบิดนั้นยังสร้างดาวฤกษ์ที่มีความหนาแน่นสูงเป็นพิเศษซึ่งเรียกว่าพัลซาร์ (pulsar) ที่ต่อมาถูกเป่าพองเป็นฟองอากาศของอนุภาคที่มีพลัง กลายเป็นเนบิวลาที่เปล่งรังสีเอ็กซ์ ล่าสุดรายงานของศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด สมิธโซเนียน ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราหรือกล้องรังสีเอ็กซ์จันทราขององค์การนาซา ได้จับภาพการเคลื่อนที่ของโครงสร้างแสงอันน่าทึ่งของเนบิวลารังสีเอ็กซ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากคลื่นกระแทกและเศษซากจากดาวที่ระเบิดออกมาจากซุปเปอร์โนวา พบว่ามันเคลื่อนตัวออกจากจุดที่เกิดการระเบิดแล้วก็มาชนกับผนังเมฆก๊าซชื่อ RCW 89 ที่อยู่รอบๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายนิ้วและฝ่ามือ

ส่วนของภาพในสี่เหลี่ยมนั้นแสดงถึงการเคลื่อนไหวของคลื่นกระแทกของการระเบิดที่ตรงบริเวณของปลายนิ้ว ตรงนี้น่าจะมีการเคลื่อนไหวเกือบ 14.5 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นกลุ่มของธาตุแมกนีเซียมและธาตุนีออน พวกมันอาจก่อตัวขึ้นในดาวฤกษ์ก่อนจะระเบิดและกระจายสู่อวกาศเมื่อดาวระเบิดขึ้น เศษระเบิดบางส่วนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่เร็วกว่า 17.7 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งภาพปี พ.ศ.2561 จะเห็นว่าบรรดานิ้วเป็นฟ้าและเขียว ส่วนกลุ่มธาตุแมกนีเซียมและธาตุนีออนเป็นสีแดงและเหลือง.

(ภาพประกอบ Credit : Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics)