จักรวาลคือพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมายโชคดีที่มนุษย์เราสร้างเครื่องมือทรงประสิทธิภาพพอที่จะทำให้ได้เห็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อันน่าทึ่งในอวกาศอันไกลโพ้น เช่น เมื่อไม่นานมานี้ มีทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในสหรัฐอเมริกา รายงานเกี่ยวกับการค้นพบดาราจักรหรือกาแล็กซี 3 แห่งที่แยกจาก 7 แห่งที่ชนกัน

ทีมนักดาราศาสตร์ค้นพบว่ากาแล็กซี 3 แห่งควบรวมเข้าด้วยกันเป็นกระจุกกาแล็กซี และเชื่อว่าอาจมีหลุมดำมวลยิ่งยวด (supermassive black hole) ถึง 2 แห่งด้วยเช่นกัน จัดว่าเป็นระบบที่พบได้ยากยิ่ง ซึ่งหลังจากพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีแอลเอ ในนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา, หอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป, หอดูดาวดับเบิลยู เอ็ม เค็ก ที่รัฐฮาวาย, กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา และกล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา ในชิลี ช่วยในการกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมด ทีมพบว่าระบบกาแล็กซีดังกล่าวมีความสว่างเจิดจ้าอย่างยิ่งโดยอยู่ห่างออกไปราว 800 ล้านปีแสง

ทั้งนี้ กาแล็กซีทั้ง 3 แห่งมีความแตกต่างกัน แห่งหนึ่งจัดอยู่ในประเภทกาแล็กซี เซย์เฟิร์ต (Seyfert Galaxy) เป็นจานหมุนขนาดใหญ่ มีหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่ตรงกลาง ส่วนอีกแห่งเป็น LINER galaxy ที่คาดการณ์ว่ายังมีหลุมดำมวลยวดยิ่งอยู่ที่ใจกลางของพวกมัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันว่ามีจริงหรือไม่ และอีกแห่งเป็นกาแล็กซีแคระที่ไม่มีหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ยังทำงานอย่างกระฉับกระเฉง.

ภาพ Credit : VLT/MSU R-V-B-composite image